posttoday

LINE เผยแบรนด์หรูในตลาดไทยฟื้นไว และส่วนใหญ่ช้อปผ่านออนไลน์

17 พฤศจิกายน 2565

งานวิจัย ‘THE EVOLUTION OF THAI LUXURY INDUSTRY’ โดย LINE ระบุว่า ตลาดสินค้าแบรนด์หรูในไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยสถิติยอดขายในประเทศที่เติบโตสูงขึ้น ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ชอบซื้อกระเป๋ามากเป็นอันดับหนึ่ง

LINE ประเทศไทย ทำวิจัยชิ้นล่าสุดในหัวข้อ “THE EVOLUTION OF THAI LUXURY INDUSTRY” พบว่า แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนและภาคธุรกิจมากมาย จนทำให้หลายธุรกิจซบเซา แต่ตรงกันข้ามกับตลาดสินค้าแบรนด์หรู ที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยสถิติยอดขายในประเทศที่เติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์

 

ด้วยปัจจัยมาจากข้อจำกัดในการเดินทางไปช้อปนอกประเทศ สู่การปรับตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักช้อป ซึ่งเป็นพฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่จะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระยะยาว

 

สำหรับงานวิจัย “THE EVOLUTION OF THAI LUXURY INDUSTRY” ที่ LINE จัดทำขึ้นนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกในการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูของนักช้อปในตลาดไทย พร้อมเทรนด์การตลาดสำหรับสินค้าแบรนด์หรู โดยสรุปเป็น 3 ประเด็นหลักน่าสนใจ 

 

3 คาแรกเตอร์นักช้อปแบรนด์หรูที่ควรรู้จัก


ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่าการเข้าถึงสินค้าแบรนด์หรูต่าง ๆ ในตลาดไทยนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีนักช้อปสินค้าแบรนด์หรูที่มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุและพฤติกรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 

  • The Aspirers กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่นักศึกษาและวัยเริ่มต้นทำงาน ซึ่งมีสูงถึง 90% โดยคนกลุ่มนี้ มีขั้นตอนการตัดสินใจเลือกซื้อที่ค่อนข้างมาก และไม่คาดหวังบริการสุดพิเศษ เพียงแต่ต้องการมองหาสินค้าที่ตนเองสนใจและต้องการเท่านั้น 
  • The Luxurists กลุ่มผู้บริโภคอายุ 30-40 ปี มีจำนวน 8% ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพนักงานออฟฟิศ โดยคนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ง่ายกว่ากลุ่ม The Aspirers และมีความคาดหวังด้านการบริการในระดับปานกลาง
  • The SWIP หรือ Super VVIP กลุ่มคนอายุ 30-50 ปี มีจำนวน 2% ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ คนกลุ่มนี้นิยมซื้อสินค้าแบรนด์หรูบ่อยและคาดหวังการบริการที่ดีที่สุด อีกทั้งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญด้านการดูแล ทะนุถนอมสินค้า และระมัดระวังการใช้งานมาก

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักช้อปที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก คือ นักช้อปรุ่นใหม่ที่จะเติบโตสู่การเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ในอนาคต โดยหัวใจสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักช้อปรุ่นใหม่ คือ ความแปลกใหม่ ความสนุก และดีลดี ๆ จากแบรนด์

 

ปัจจัยหลักในการใช้จ่ายสินค้าแบรนด์หรูของนักช้อปไทยบนโลกออนไลน์

 

ราคา คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผ่านออนไลน์ของนักช้อปแบรนด์หรูในประเทศไทย จากผลสำรวจของ LINE พบว่า นักช้อปแบรนด์หรูยินยอมที่จะใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 25,900 บาทในการซื้อสินค้าแบรนด์หรูผ่านช่องทางออนไลน์

 

หากแบ่งเป็นสัดส่วน พบว่า 21% ของผู้บริโภคออนไลน์ เต็มใจซื้อหากราคาต่ำกว่า 10,000 บาท 10% เต็มใจซื้อหากราคาอยู่ระหว่าง 40,001 – 50,000 บาท และ 4% เต็มใจซื้อหากราคามากกว่า 100,000 บาท โดย 5 อันดับสินค้าแบรนด์หรูในดวงใจของนักช้อป ได้แก่ กระเป๋าถือ นาฬิกา กระเป๋าสตางค์ รองเท้า และ เสื้อผ้า

 

LINE เผยแบรนด์หรูในตลาดไทยฟื้นไว และส่วนใหญ่ช้อปผ่านออนไลน์

 

 

10 เมกะเทรนด์น่าสนใจ 

1.การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ คนไทยที่ชื่นชอบการซื้อสินค้าแบรนด์หรู เดิมทีจะนิยมซื้อจากต่างประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาซื้อจากในประเทศมากขึ้น

 

2.การเติบโตของดิจิทัลคอมเมิร์ช โดยวันเดอร์แมน ธอมสัน เผยถึงผลสำรวจนักช้อปในปี 2021 ระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่ายบนโลกออนไลน์สูงถึง 94% ขณะที่ค่าเฉลี่ยผู้บริโภคทั่วโลกใช้จ่ายอยู่ที่ 72% รวมไปถึง 90% ของผู้บริโภคคนไทยมีความมั่นใจว่าจะใช้ช่องทางการซื้อขายจากดิจิทัลคอมเมิร์ชมากขึ้นในอนาคต ขณะที่ตัวเลขของทั่วโลกอยู่ที่ 62% 

 

3.สนใจสินค้ามากกว่าประสบการณ์ ผู้บริโภคเริ่มหันมาโฟกัสที่ตัวสินค้ามากกว่าการมองหาประสบการณ์ในช้อป ส่งผลให้สินค้ากลุ่มกระเป๋าถือ รองเท้า และจิลเวอรี่ ยังสามารถทำยอดขายได้ดีแม้ในช่วงวิกฤตโควิด

 

4.เทรนด์การซื้อเพื่อให้รางวัลตนเอง โดยเฉพาะกับสินค้าแบรนด์หรู ที่ถือเป็นของรางวัลหรือของขวัญล้ำค่าให้กับตนเอง ซึ่งเทรนด์นี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

 

5.การเติบโตของตลาดสินค้าแบรนด์หรูมือสอง โดยมีการคาดการณ์ว่า ตลาดสินค้าแบรนด์หรูมือสอง จะเติบโตขึ้นถึง 65% ในช่วงปี 2017 – 2021 ในขณะที่สินค้าแบรนด์หรูมือหนึ่งเติบโตเพียง 12% 

 

6.เทรนด์ความยั่งยืน การรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญและสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบรนด์ควรใส่ใจและแสดงออกในด้านดังกล่าวต่อสังคมและโลก

 

7.ความรวดเร็วในการตอบสนองคือกุญแจความสำเร็จ การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า หลายแบรนด์หรูใช้ช่องทาง LINE OA เพื่อตอบสนองลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2021 มีจำนวน LINE OA ของแบรนด์หรูเติบโตถึง 117% เมื่อเทียบกับปี 2020

 

8.หน้าร้านไม่มีวันตาย ตราบใดที่ไม่น่าเบื่อ ความนิยมอยากมาดูสินค้าที่ช้อปจะกลับมา โดยลูกค้าจะยังคงคาดหวังประสบการณ์สุดพิเศษเช่นเคย โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายเป็นปกติในปัจจุบัน

 

9.การบอกปากต่อปาก โดยเฉพาะเรื่องเล่าประสบการณ์สุดพิเศษที่ได้รับจากแบรนด์หรู นักช้อปส่วนใหญ่มักแชร์เรื่องราวประสบการณ์ที่ดีแก่เพื่อนและคนรู้จักผ่านช่องทางต่าง ๆ โดย LINE OpenChat เป็นหนึ่งช่องทางที่ผู้คนหลากหลายมักคุยในเรื่องเดียวกัน โดยปัจจุบันมีจำนวนห้องที่พูดคุยเกี่ยวกับแบรนด์หรูบน LINE OpenChat ถึงเกือบ 500 ห้อง

 

10.สร้างสาขาบนโลกออนไลน์อย่างมีสไตล์ ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินใจซื้อแค่ประสบการณ์ในช้อปอีกต่อไป แต่รวมถึงประสบการณ์โดยรวมของแบรนด์ที่พิเศษ มีสไตล์ ไม่เหมือนใคร ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

 

ทั้งหมดนี้ คือ บทสรุปโดยย่อสำหรับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักช้อปแบรนด์หรูตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการทำการตลาดของฝั่งแบรนด์หรูในตลาดไทยที่สอดคล้องกัน ทำให้สินค้าแบรนด์หรูสามารถฝ่าวงล้อมวิกฤตทั้งโรคระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจ และสร้างสถิติการเติบโตจากยอดขายในประเทศได้อย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา

 

แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดจะคลี่คลายลง จนการซื้อขายจะกลับมาคึกคักมากขึ้น แต่พฤติกรรมของนักช้อปที่เปลี่ยนแปลงไป ยังคงมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อการตัดสินใจซื้อ การเลือกใช้ช่องทางช็อปออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ที่โดดเด่น จะช่วยให้แบรนด์สามารถดึงดูดลูกค้าและสร้างยอดขายได้เติบโต