posttoday

กสทช. เปิดไทม์ไลน์ประมูลดาวเทียม 21 ก.ย.นี้

27 พฤษภาคม 2567

สำหรับวงโคจร 2 แพ็กเกจ ต่าแหน่งวงโคจร 50.5 ,51 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก เปิดรับเอกสารคัดเลือก 14-15 ส.ค.67 คาดประมูล 21 ก.ย. 67

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ว่า ที่ประชุม คณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช. มีมติเห็นชอบต่อการแก้ไขปรับปรุง และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ณ ต่าแหน่งวงโคจร  50.5 ,51  องศาตะวันออก  และ 142 ตะวันออก ในลักษณะจัดชุด( แพ็กเกจ) ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป และนำมาปรับปรุงร่างดังกล่าวแล้ว รวมถึงการกำหนดกรอบเวลา ในการจัดการประมูลการใช้สิทธิโคจรดังกล่าว

ทั้งนี้กรณีมีผู้เข้าร่วมคัดเลือก คาดว่าจะเปิดให้รับเอกสารคัดเลือกในระหว่าง 14-15 ส.ค.67 และเปิดให้ยื่นขออนุญาต 20 ส.ค. 67 จากนั้นจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมคัดเลือกในระหว่าง 21 ส.ค - 3 ก.ย.67  และจะประกาศรายชื่อ ผู้เข้าร่วมคัดเลือก ในวันที่  18 ก.ย.67 และคาดว่าจะจัดประมูลในวันที่ 21 ก.ย. 67 (กรณีไม่มีการอุธรณ์) หรือจัดประมูลวันที่ 1 ต.ค.67 (กรณีมีการอุธรณ์) หลังจากนั้นคาดว่าจะมีการประชุม กสทช. รับรองผลการประมูล ภายใน 7 วัน หลังการประมูล

กสทช. เปิดไทม์ไลน์ประมูลดาวเทียม 21 ก.ย.นี้

สำหรับ การปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. ดังกล่าวนั้น ราคาเริ่มต้นการประมูลครั้งนี้ ได้มีการปรับลดราคา โดยวงโคจร 50.5,51 องศาตะวันออก จากเดิม ราคา 374 ล้านบาท เหลือ 41 ล้านบาท และ วงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคา 189 ล้านบาท เหลือ 23 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจ่ายค่าปรับ กรณีผู้ชนะประมูลได้สิทธิวงโคจรไปแล้วไม่ สามารถนำไป ประกอบธุรกิจได้นั้น จะโดนปรับตามราคาเริ่มต้นประมูลเท่ากับราคาครั้งที่ผ่านมาคือ วงโคจร 50.5,51 องศาตะวันออก ราคา 374 ล้านบาท และ วงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคา 189 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ได้มีการปรับลดราคาเริ่มต้นการประมูลลง แต่ก็ได้เพิ่มเงื่อนไขผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็น X% ของรายได้ต่อปี ด้วย โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5% หากมีการเคาะราคาต่อครั้งก็จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นครั้งละ 0.25% ด้วย

นอกจากได้ ยังได้ปรับเงื่อนไขการมีดาวเทียมเป็นของตนเอง จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้มีระยะเวลา ในการดำเนินการ ที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะพื้นที่ให้บริการ ของดาวเทียมในครั้งนี้อยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเงื่อนไข ในการนำคลื่นความถี่ขึ้นใช้งานกับดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรยังคง ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ ของ สหภาพ โทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) เช่นเดิม