posttoday

นักวิชาการ เบรกรัฐอุ้มดีเซล-ชงขึ้นVAT หารายได้เพิ่ม

31 มีนาคม 2567

TDRI แนะรัฐหยุดแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซล ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกลตลาด หลังมาตรการจะสิ้นสุด 19 เม.ย.นี้ และหาจังหวะเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อล้างหนี้ หลังกองทุนฯแบกหนี้อ่วม สะเทือนจัดเก็บรายได้รัฐพลาดเป้า ชงขึ้น VAT เป็น 10% สร้างรายได้ใหม่เข้ารัฐ

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร ที่มาตรการจะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย.นี้ เนื่องจากมองว่า การแทรกแซงราคาน้ำมันของรัฐบาลทำให้ภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งการอุ้มภาษีน้ำมันดีเซล 3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ 20 ม.ค.-19 เม.ย.2567 ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้เดือนละ 2,000 ล้านบาท รวม 3 เดือนสูญเสียงบประมาณ 6,000 ล้านบาท ทำให้ช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า 8.8 พันล้านบาท 

 

ทั้งนี้ น้ำมันดีเซลส่วนใหญ่ถูกใช้ในกิจกรรมการขนส่งสินค้าและบริการ จึงเป็นต้นทุนที่ซ่อนอยู่ในราคาสินค้าและบริการที่ใช้กันในชีวิตประจำวันของประชาชนโดยมาก การมีกองทุนพลังงาน ก็เพื่อช่วยลดความผันผวนให้ราคาไม่เพิ่มหรือลดมากจนเกินไปจนกระทบทำให้ราคาสินค้าและบริการมีความผันผวนมากตามไปด้วย นั่นคือ เวลาที่ราคาเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว กองทุนฯก็เข้าไปแทรกแซงให้ราคามันปรับลดลงโดยการเอาเงินจากกองทุนเข้าไปช่วย และเวลาที่ราคามันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวก็เก็บเงินเข้ากองทุนฯ

 

อย่างไรก็ดี การเข้าไปแทรกแซงทำให้ราคาน้ำมันดีเซลถูกลงกว่าราคาตลาดโลกอย่างถาวรเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะว่าจะเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ทำให้ราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดทำให้สังคมมีการใช้น้ำมันดีเซลมากเกินควร และซ้ำร้าย ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงไม่ได้หายไปไหน แต่ต้องเป็นภาระทางการคลังให้กับผู้เสียภาษีทุกคนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือซ่อนเอาไว้เป็นหนี้สาธารณะให้ลูกหลานในอนาคตต้องมาตามใช้หนี้

 

“รัฐควรเลิกการแทรกแซง ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด และหาจังหวะจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อล้างหนี้ด้วย เพราะการแทรกแซงของรัฐบาลนี้ทำให้หนี้กองทุนฯเพิ่มขึ้นสูงมาก และตอนนี้เงินเฟ้อไทยก็ต่ำไปนิด เข้าใจว่าทั้งปี แบงก์ชาติ ลดการคาดการณ์เงินเฟ้อจาก 2% เหลือแค่ 1% ซึ่งถือว่าอยู่กรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อแล้ว” ดร.นณริฏ กล่าว

ส่วนแนวทางการปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวนั้น อาจทำให้ราคาเกิดการผันผวนมากจนเกินไป การที่ไทยมีกลไกกองทุนพลังงานมาช่วยลดความผันผวน ก็น่าจะใช้กลไกให้ถูกต้อง คือ การคาดการณ์ราคาที่เหมาะสมในระยะยาว และใช้การแทรกแซงเมื่อราคาผันผวนมากกว่าราคาดังกล่าว

 

สำหรับ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สุทธิ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2567 ติดลบ 98,220 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 51,136 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,084 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ดร.นณริฏ ยังเสนอให้รัฐบาลเพิ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) โดยควรจะกลับมาจัดเก็บที่ 10%  เพราะว่าการลดลงให้เหลือ 7% ในปัจจุบันนั้น ถูกปรับลดลงต้้งแต่สมัยวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว แต่การปรับขึ้นต้องดูสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่เหมาะสมด้วย โดยเสนอให้มีการค่อยทะยอยปรับขึ้นแบบญี่ปุ่น คือ เพิ่มเป็น 8-9% ก่อน แล้วดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากผลกระทบไม่มาก ค่อยปรับขึั้นเป็น 10% และดู timing ตอนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแท้จริง เช่น ใน 1-2 ปีข้างหน้า