posttoday

สรรพาสามิต คาดประกาศราชกิจาฯ ลดภาษีสุราชุมชน-ไวน์ ภายในสัปดาห์นี้

19 กุมภาพันธ์ 2567

อธิบดี กรมสรรพาสามิต เผยประกาศโครงสร้างภาษีสุราชุมชุน เหลือ 0% -ไวน์พื้นบ้าน-นำเข้าอัตราเดียว 5% ภายในสัปดาห์นี้ คาดจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมลุยเปิดพิกัดบุหรีไฟฟ้า ปราบปรามบุหรี่เถื่อน

นาย เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างภาษีอากร และภาษีสรรพสามิต สุราและไวน์ ซึ่งจะประกอบด้วยไวน์พื้นบ้าน และไวน์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นราคา และ กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราเดียว ว่า คาดว่า ประกาศกฎกระทรวงของกรมสรรพสามิตโครงสร้างภาษีใหม่ จะประกาศได้ในราชกิจจานุเบกษาภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ภาษีปรับลดจากอัตรา 10% เหลือ 5% เช่นเดียวกับโครงสร้างภาษีสุราพื้นบ้าน ตามนโยบายรัฐบาล ที่จะมีการประกาศในสัปดาห์เช่นกัน จากเดิมเก็บภาษี 5% เหลือ 0% และเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ บริสุทธิ์ หรือ ดีกรี อย่างเดียว เพื่อส่งเสริมรายได้ชุมชน 

 

“ในอดีตกรมฯ สามารถจัดเก็บภาษีสุรา และไวน์ได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท หากสามารถนำสินค้ากลุ่มนี้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น จะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นโดยตั้งเป้าไว้ต่อปีไว้ที่ประมาณ 900 – 1,000 ล้านบาท จากเดิมประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี” นายเอกนิติกล่าว

 

สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีสุรา และไวน์ ของรัฐบาลจะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของไทย และยังช่วยเพิ่มรายได้ต่อหัวนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลักการสำคัญที่ปรับเพิ่มภาษีไวท์ เนื่องจากในอดีตมีการจัดเก็บภาษีทั้งตามมูลค่า และปริมาณ เช่น หากราคาเกิน 1,000 บาท เก็บตามมูลค่าที่ 10% ตามปริมาณประมาณ 150 ต่อขวด 
 


นายเอกนิติ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมสรรพาสามิตได้นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการช่วยจัดเก็บภาษี เพียงสแกนลงไปที่สแตมป์ข้างขวดไวน์ จะพบข้อมูลของไวท์ขวดนั้นๆ ว่า มาจากประเทศอะไร ราคาเท่าใด ซึ่งจะสะท้อนราคาที่เป็นจริง ซึ่งจะช่วยให้การหลบเลี่ยงภาษีทำได้ยากมากขึ้น พร้อมกันนี้กำลังทำระบบที่สามารถตรวจสอบราคาไวน์ได้ตามสแตมป์ที่ติดบนไวน์ ซึ่งจะบอกได้ว่า สินค้านั้นเหลียกเหลี่ยงภาษีหรือไม่ หรือไม่ตรงกับขวด ซี่งเป็นการทำให้ระบบรัฐบาลโปร่งใสมาก

 

“ตอนนี้ระบบทำเรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการชะลอเกณฑ์ใหม่เมื่อช่วงเข้าครม. ทำให้กฎหมายชะลอลงไป แต่คาดว่าสัปดาห์นี้น่าจะประกาศได้ เตรียมพร้อมให้เอกชนร่วมพิจารณากับเราด้วย” นาย เอกนิติ กล่าว

 

สำหรับเป้าการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพาสามิตปี 2567 ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังอยู่ที่ประมาณ 598,000 ล้านบาท แต่ด้วยที่กรมฯยังมีหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย และช่วยเหลือดูแลค่าครองชีพประชาชนตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการลดภาษีน้ำมันดีเซลในปีที่ผ่านมา  5 บาท/ลิตร และ 1 บาท/ลิตร ทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้ประมาณ แสนกว่าล้านบาท 

 

นอกจากนี้  กรมฯ อยู่ระหว่างการผลักดันการกำหนดพิกัดบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปอยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิต เนื่องจากการเข้าปราบปรามบุหรีผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขายในระบบออนไลน์ได้ตรวจพบบุหรีไฟฟ้าจำนวนมาก หรือเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งยอมรับว่า ภาษีบุหรีไฟฟ้านั้น มีความซับซ้อน โดยในอดีตถือว่าเป็นสินค้าที่หาสิ่งทดแทนได้ยาก แต่ปัจจุบันทดแทนได้ง่าย คือ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งพบว่า มีจำนวนผู้บริโภคบุหรี่ลดลง สวนทางกับบุรหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้อยู่ในพิกัดกรมฯ ทำให้เมื่อตรวจพบไม่สามารถปราบปรามดำเนินการได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจ เช่น เดียวกับกัญชา ใบกระท่อม ต้องส่งให้ตำรวจดำเนินคดีเท่านั้น


“กรมยืนยันว่าการเพิ่มพิกัดบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้เป็นการเก็บภาษีเพื่อหวังผลรายได้ หรือทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเท่านั้น” นายเอกนิติ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดเก็บภาษีที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม (Carbon TAX) เพราะรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก อาทิ สินค้ากลุ่มพลังงานและกลุ่มขนส่ง ประมาณ 70-80% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้จะสอดคล้องกับกติกาโลก และมาตรฐานสากลด้วย