posttoday

นักวิชาการ ชี้การเมืองอย่าแทรกแซงธปท. ธนาคารกลางต้องมีอิสระ

01 กุมภาพันธ์ 2567

“พรายพล คุ้มทรัพย์” ลั่นฝ่ายการเมืองแทรกแซงธปท.ลดดอกเบี้ย ไม่เหมาะสม ชี้ไม่มีประเทศไหนทำกัน มองการดำเนินนโยบายการเงินไม่ผิดทาง ฟันธง กนง. 7 ก.พ.นี้ คงดอกเบี้ย 2.50% ยาว 2-3 รอบการประชุม เหตุเงินเฟ้อยังต่ำ

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีความเห็นต่างระหว่างรัฐบาล กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมีความเห็นให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ในการประชุมกนง.วันที่ 7 ก.พ.นี้ว่า รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเรื่องดอกเบี้ย ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากดำเนินงานของธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระจากการฝ่ายเมือง นอกจากนี้การดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ต้องอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นกรอบที่ได้ผ่านการหารือร่วมกันกับรัฐบาลทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งธปท.จะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพดานราคาผ่านการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ควบคู่กับการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งมองว่า การทำแบบนี้รัฐบาลต้องการสร้างกดดันให้กับกนง.

 “ท่าทีของรัฐบาลถือว่าไม่เหมาะสม รัฐบาลโดยปกติ เขาจะให้อิสระธนาคารกลาง และก็ควรเป็นอย่างนั้น โดยปีละครั้งธปท.จะมีการหารือร่วมกันกับรัฐบาลว่า กรอบอัตราเงินเฟ้อควรเป็นเท่าไร และธปท.ต้องทำให้อยู่ในกรอบข้อตกลงนั้น ส่วนเรื่องจะขึ้นจะลงดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับกนง.จะต้องไม่มีการแทรกแซงระหว่างทาง ” ศ.ดร.พลายพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเห็นว่า การทำนโยบายของธปท.ไม่เหมาะสม รัฐบาลสามารถทบทวนการวางกรอบเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อ และวิธีการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ได้ ตามกรอบกฎหมายกำหนด โดยผ่านกระบวนการหารือร่วมกันกับธปท. ถ้าอยากเปลี่ยนก็ต้องไปแก้กฎหมาย ไม่ใช่อยู่ดีๆจะไปแทรกแซง หรือสื่อสารผ่านสื่อแบบนี้

“หากรัฐบาลมองว่า ดอกเบี้ยแบงก์สูงไป ส่งผลให้ต้นทุนประชาชน และภาคเอกชนสูง เรื่องนี้คุยกันได้ เรียกมาคุยกันเลย ว่ากรอบการทำงานเป็นอย่างไร ไม่เหมาะสมยังไง ดอกเบี้ยแบงก์ควรเป็นไง ควรเป็นเวทีเฉพาะ 2 ฝ่ายก่อน ไม่ใช่พูดออกสื่อโซเชียล รัฐบาลทำแบบนี้ เรียกได้ว่า เป็นการหาเรื่องธปท.มากกว่า ไม่รู้จะทำยังไงก็ไปหาเรื่องเขาหรือไม่ อย่างนี้ก็ทำไม่ถูก การกดดันธนาคารกลาง ในต่างประเทศเขาไม่ทำกัน”ศ.ดร.พลายพล กล่าว


ส่วน ท่าที่ของรัฐบาลที่มีต่อธปท.ในขณะนี้ หลายกระแสมองว่า เพราะรัฐบาลพยามกลบเกลื่อน หรือ หาทางลงให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือไม่นั้น  ตนก็ไม่รู้จะให้มองอย่างไร ก็อาจเป็นเรื่องแรงกดดันทางการเมือง เพราะเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว อาจเป็นเรื่องที่หาคนผิดหรือไม่ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น

 

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ที่ผ่านมองว่า ตนเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ธปท.ได้ยึดตามกรอบเงินเฟ้อที่ตกลงไว้กับรัฐบาล ซึ่งธปท.เดิมตามกรอบนั้น 

“อย่าลืมว่ากรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ได้ตกลงไว้แล้วกับรัฐบาล เขาก็เดินตามความเหมาะสมในขณะนี้ จะขึ้นหรือลงดอกเบี้ยนโยบาย เขาก็ดำเนินงานตามกรอบ และแฟกเตอร์ หรือปัจจัยต่างๆ เท่าที่ดูอัตราดอกเบี้ยที่ไทยที่ 2.50%ต่อปี ก็ถือว่าไม่ได้สูง ที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายไทยเคยสูงกว่านี้ ขณะที่ต่างประเทศดอกเบี้ยเขาสูงถึง 4-5%” ศ.ดร.พลายพล กล่าว

ทั้งนี้ ยังมั่นใจว่า แรงกระแสกดดันจากฝ่ายการเมือง จะไม่มีผลต่อการพิจารณานโยบายการเงินของคณะกรรมการกนง.ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เพราะกนง. มีกรอบกฎหมายที่ต้องดำเนินตามอยู่แล้ว แต่เชื่อว่า กนง.ก็จะรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่าย 


ส่วนข้อกังวลว่า ความขัดแย้งนโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การปลดผู้ว่าการธปท.หรือไม่  เชื่อว่าโอกาสนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะหากปลดผู้ว่าธปท.ในตอนนี้จะเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ขณะที่เรามีกฎหมายตีกรอบป้องกันไว้ตามพ.ร.บ.ธปท.ไม่ใช่อยู่ดีๆ อยากปลดก็ปลดได้ ต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ว่า ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใด มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่สร้างความเสียหายร้ายแรง เป็นต้น ไม่เช่นนั้น คนที่ปลดโดนฟ้อง และติดคุกแน่นอน 

 

สำหรับ ทิศทางดอกเบี้ยของไทยในปี 2667 เชื่อว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี เพื่อรอดูสถานการณ์ เช่นเดียวกับ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีมติในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ต่อปี และมีสัญญาณยังไม่มีแผนลดดอกเบี้ย เพื่อรอดูสถานการณ์ 

“กนง.รอบนี้ก็คงดอกเบี้ยไว้ เพื่อรอดูสถานการณ์ โดยจะคงไว้ 2-3 ครั้งในรอบการประชุม แล้วค่อยว่ากันใหม่ ซึ่งสหรัฐฯ หรือ เฟดก็ต้องรอดูสถานการณ์เหมือนกัน คงไม่บ้าจี้ลดตามการเมืองในตอนนี้ เพราะธปท.เขามีหลักการต้องยืนให้ตรง”ศ.รด.พลายพลกล่าว