posttoday

เปิดหลักเกณฑ์ 3 ใบอนุญาตดาวเทียมต่างชาติก่อนทำธุรกิจในไทย

13 มกราคม 2567

สำนักงานกสทช.ผุดใบอนุญาตดาวเทียมต่างชาติ 3 ประเภท การอนุญาต Landing Right การอนุญาต Gateway และ การอนุญาต Satellite Services กระตุ้นเกิดการแข่งขัน หนุนผู้ประกอบการรายย่อย

พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) กล่าวว่า เนื่องจากประกาศฯ Landing Right ได้ใช้มาตั้งแต่ 19 ก.พ. 2563 ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีด้านดาวเทียมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ได้เข้ามามีบทบาทในกิจการสื่อสาร กอปรกับ กสทช. ได้จัดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเมื่อ 15 ม.ค.2566 ทำให้กิจการดาวเทียมสื่อสารไทยได้เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต 

ดังนั้น กสทช.จึงได้มีมติเมื่อ 23 พ.ย. 2566 เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช.จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ต่อการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ Landing Right ดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดประชุมในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค. 2567 ณ ห้องประชุม The Palladium โรงแรม เดอะ เบอร์เคลียร์ กรุงเทพฯ โดยมี กสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ กสทช. นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ร่วมเป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์มากกว่า 200 คน โดยเป็นครั้งแรกที่สำนักงาน กสทช.ได้จัดประชุมทั้งภาษาไทยในช่วงเช้าและภาษาอังกฤษช่วงบ่าย และจะยังคงเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 22 ม.ค. 2567 นี้ 

สำหรับสาระสำคัญในการปรับปรุงประกาศฯ ครั้งนี้ มีประเด็นหลักในการปรับปรุงแก้ไข คือ 

1. การแบ่งลักษณะการอนุญาต จากเดิมเป็นการอนุญาตในลักษณะ Exclusive Right กล่าวคือ หนึ่งผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติผูกขาดเพียงหนึ่งเดียวในลักษณะ One to One ทั้งการอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติ (Landing Right) การอนุญาตสถานีภาคพื้นดินเพื่อเชื่อมโยงโครงข่าย (Gateway) และ การอนุญาตเพื่อให้บริการ (Satellite Services) แต่ตามร่างใหม่จะแบ่งลักษณะการอนุญาตเป็น 3 ประเภท (Licensing Type) คือ 1. การอนุญาต Landing Right 2. การอนุญาต Gateway 3. การอนุญาต Satellite Services รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตในแต่ละประเภทได้หลายผู้ประกอบการ (One to Many) เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขออนุญาตได้หากมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการให้บริการแต่ละกรณี 

2. คุณสมบัติของผู้ขอรับการอนุญาตรวมทั้งเงื่อนไขการอนุญาต จะแบ่งตามประเภทที่อาจมีความแตกต่างกัน โดยคำนึงถึงข้อกฎหมายที่มีอยู่ เช่น ผู้ประสงค์จะขอใช้ดาวเทียมต่างชาติเพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม ก็ต้องปฏิบัติและได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม สำหรับผู้ประสงค์จะขอเพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ก็ต้องปฏิบัติและได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เท่านั้น 

อย่างไรก็ตามยังคงต้องคำนึงถึงด้านความมั่นคงรวมทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งขึ้นกับแต่ละประเภท โดยมีระยะเวลาการอนุญาตกรณีทั่วไปไม่เกิน 5 ปี และ กรณีเฉพาะกิจ (ชั่วคราว) ไม่เกิน 1 ปี เช่นเดิม รวมทั้งค่าธรรมเนียมการอนุญาตยังคงต้องชำระค่าคำขอ 10,000 บาท และเมื่อได้รับอนุญาตต้องชำระ 2 ล้านบาทต่อ 1 สิทธิ และ ชำระรายปีร้อยละ 3.2 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย แต่มีการเพิ่มเติมกรณีเฉพาะกิจ (ชั่วคราว) ที่หากเป็นการประกอบกิจการต้องชำระ 40,000 บาท ต่อ 1 สิทธิ ด้วย 

3. กรณีข้อยกเว้นรวมทั้งการขออนุญาตแบบเฉพาะกิจ (ชั่วคราว) ได้มีการพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ โดยนำ Pain point ของประกาศฉบับปัจจุบันมาปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น กรณีการให้บริการแก่ผู้โดยสารบนอากาศยาน หรือ กรณีการใช้งานดาวเทียมต่างชาติของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้งานเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการรับเรื่องคำขอ ให้เกิดความชัดเจนและคล่องตัวขึ้นในการปฏิบัติมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับข้อคิดเห็นที่สำคัญจากที่ประชุมฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้ให้ข้อคิดเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ โดยสรุป เช่น 

1. ข้อห่วงใยด้านความมั่นคงที่หากเปิดโอกาสให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามา จะสามารถควบคุมได้มากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะเงื่อนไขการจัดตั้งสถานีภาคพื้นดินและการบังคับใช้ตามข้อกฎหมายไทย 

2. ข้อคิดเห็นต่อผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิดาวเทียมไทย หากไม่ได้รับความคุ้มครองหรือสนับสนุนจะเกิดความเหลือมล้ำและไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลให้ประเทศไทยอาจจะไม่สามารถรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมของไทยได้ในอนาคต 

3. ข้อคิดเห็นในการเปิดตลาดด้านดาวเทียมในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่ควรหรือจำเป็นต้องดำเนินการในห้วงนี้ 

4. ข้อคิดเห็นที่ประกาศนี้เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมปลายน้ำ จึงควรมีเงื่อนไขในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติให้มากขึ้น เป็นต้น     

พลอากาศโท ธนพันธุ์ กล่าวว่า กล่าวข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมากจากการประชุมจะได้นำมาพิจารณาในการปรับปรุงประกาศ Landing Right ซึ่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมจะเข้ามามีบทบาทต่อกิจการสื่อสารแบบ Broadband ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เน้น Broadcast 

ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่ากิจการดาวเทียมเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันในระดับสากลจึงต้องรับฟังความเห็นรอบด้าน ต่างจากธุรกิจสื่อสารอื่น เช่น โทรศัพท์มือถือที่ให้บริการเฉพาะในประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านกิจการดาวเทียมจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาตแล้ว 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญประกาศฉบับนี้ต้องสร้างสมดุล โดยต้องคุ้มครองสนับสนุนผู้ประกอบการดาวเทียมไทยให้มีความเข้มแข็งอยู่ได้ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ แต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยได้ใช้เทคโนโลยีหรือบริการดาวเทียมต่างชาติที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่มีหรือให้บริการได้ รวมทั้งที่สำคัญเรื่องความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศ

ดังนั้นประกาศฉบับนี้ต้องสามารถปกป้องอธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยทางด้านความมั่นคงที่ในอนาคตอันใกล้นี้จะมาจากดาวเทียมแน่นอน