posttoday

นักวิชาการชี้ รัฐบาลตั้งงบลงทุนปี67ต่ำ ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

06 มกราคม 2567

รศ.ดร.สมชาย ชี้รัฐจัดงบลงทุนปี 67 เพียง 20.61% ของงบประมาณ ไม่ตอบโจทย์ฟื้นเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ ตอกย้ำไทยมีปัญหารายจ่ายท่วม จนไปกัดกินงบลงทุน ฉุดเม็ดเงินเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันประเทศ ทำรัฐหารายได้จำกัด กระตุ้นจีดีพีเติบโตยั่งยืนยากขึ้น

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทของรัฐบาล โดยพบว่า แบ่งเป็นงบลงทุนเพียง 7.17 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20.61% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ว่า การจัดสรรงบลงทุนอยู่ที่ 20.61% ของงบประมาณ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก สะท้อนชัดไทยมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ทำให้ไม่มีเงินไปสนับสนุนด้านการลงทุน เพื่อมาพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ หรือกระตุ้นจีดีพีที่อยู่ในสภาวะชะลอตัวกว่าที่ควรเป็นให้ฟื้นกลับเติบโตได้อย่างถาวร หรือยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศที่บริหารเศรษฐกิจดีงบลงทุนจะอยู่ที่ 35% ของงบประมาณ

 

อย่างไรก็ตาม ไทยมีปัญหาเรื่องงบประมาณมาหลายปีแล้ว เพราะสัดส่วนงบประจำของไทยมีอัตราที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออยู่ที่ 72% ของงบประมาณ และมีงบต่างๆที่ต้องชำระคืนอื่นๆอีกไม่น้อย ซึ่งในแง่ของกฎหมายมีการกำหนดว่า การลงทุนของภาครัฐต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่งบลงทุนตอนนี้ก็ถือว่าปริ่มน้ำมาก ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี ได้กำหนดไว้ว่า งบลงทุนควรอยู่ที่ 35% แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนามที่มีงบลงทุน 30% ที่มันเป็นแบบนี้เพราะว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตชะลอตัวลงโดยเฉลี่ยทุกปี จนกระทั่ง 2020-2022 อัตราการชะลอตัวเฉลี่ยของไทยอยู่ที่เพียง 2.6% ขณะที่เศรษฐกิจอาเซียนอยู่ที่ 4.3%ต่อปี ของเราต่ำกว่าอาเซียนชนะอยู่ประเทศเดียว คือ บรูไน
 

“หากพิจารณาตั้งแต่สถานการณ์โควิด การเติบโตของเศรษฐกิจไทย 3 ปีที่ผ่านมาไม่รวมปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ -0.7% ต่อปี ชี้ได้ว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในอเซียนเท่ากับบรูไน เมื่อเป็นแบบนี้ ชี้ชัดว่าไทย รัฐบาลจะหารายได้ลดน้อยลงทุกที เพราะมีเม็ดเงินเพื่อนำไปสร้างขีดความสามารถลดลง เพราะสัดส่วนงบไปอยู่ในงบรายจ่ายประจำ ที่มีแต่แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

 

ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะนี้มีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคนแล้ว และคนแก่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 กว่าล้านคน ขณะที่สัดส่วนคนที่ทำงานก็น้อยลง แต่ต้องนำเงินจากภาษีไปดูแลผ่านสวัสดิการมากขึ้น ส่งผลให้งบลงทุนเหลือต่ำมาก และมีแนวโน้มต่ำลงไปอีก รวมถึงงบประมาณรายจ่ายจากสวัสดิการจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ซึ่งจะสร้างปัญหา และเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลในชุดนี้ รวมถึงรัฐบาลชุดต่อไป ต้องหารายได้เพื่อมาชดเชยเพิ่มขึ้นอย่างมาก
 

ดังนั้น การวางทิศทางของประเทศสำคัญมาก เพราะเป็นการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือต้องการส่งเสริมด้านขีดความสามารถส่งเสริมด้านเทคโนโลยี แม้กระทั่ง Research and Development คือ การวิจัยและพัฒนา คือ การศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเรียนรู้สิ่งใดๆก็ตาม ก็เกี่ยวข้องกับการใช้งบลงทุนหมด ซึ่งเป็นเงินที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ตัวช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และช่วยเรื่องเทคโนโลยีด้านต่างๆ ซึ่งแม้เอกชนเป็นคนทำ แต่รัฐบาลต้องเป็นตัวส่งเสริมสำคัญ 

 

“หากงบลงทุนน้อยลง ก็หมายความว่าประเทศก็จะมีแต่รายจ่าย ซึ่งบนรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจะไปกินงบลงทุน เพื่อพัฒนาประเทศ ทำให้รายได้ถูกจัดกัด” รศ.ดร.สมชายกล่าว
 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถแก้ปีญหาตรงนี้ได้ ด้วย
 
1.กระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างถาวร ไม่ใช่เพียงชั่วคราวจากนโยบายกระตุ้นเพียงระยะสั้นๆ อย่างเช่นนโยบายรถคันแรก 

2.พัฒนาขีดความแข่งขันของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโลโยด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้การพัฒนาบางส่วนรัฐบาลก็ทำไม่ตรงจุด เห็นได้จากงบกระทรวงศึกษา ซึ่งได้งบจัดสรรจำนวนไม่น้อยเป็นอันดับรองจากมหาดไทย แต่รายงานจากโออีซีดี ที่ผ่านมากลับพบว่า คุณภาพเด็กไทยระดับมัธยมในกลุ่มประเทศอาเซียน วัดจาก 3 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ คำนวณ และการจับประเด็น หรือการคิดวิเคราะห์ เด็กไทยได้คะแนนตกจากอันดับที่ 35 มาอยู่ที่อันดับ 70 กว่าเกือบจะสุดท้าย ขณะที่เวียดนาม บางวิชา ขยับชั้นขึ้นไปเกือบอันดับ 10 และเมื่อวัดจากศักยภาพ ผลิตภาพแรงงานไทย ในขณะที่มีงบบูรณาการที่สูงมาก แต่พอมาวัดประสิทธิภาพแรงงานไทยพบว่า เทียบกับจีนแล้ว เหนือกว่าไทยถึง 3 เท่า ขณะที่สิงคโปร์เหนือกว่าไทย 10 เท่า ดังนั้นรัฐต้องปรับให้ตรงกับความต้องการ ปรับใหม่มีความฉลาด เพิ่มทักษะเทคโนโลยี ไม่ได้เน้นเรื่องการท่องจำ ได้ปริญญา แต่ความรู้จริงๆไม่ค่อยมี 

 

ขณะที่งบที่เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน Research and Development มีอยู่สูง 3 แสนกว่าถือว่ายังต่ำ เท่ากับ 1-2% ต่อจีดีพี หากประเทศที่ต้องการพัฒนาจุดนี้ จีดีพีต้องอยู่ที่ 5% ดังนั้นสัดส่วนงบตรงนี้ยังไม่ตอบโจทย์ที่จะทำผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าหมาย

 

“จีดีพีที่ควรเป็นคือ ควรอยู่ที่ 5% ต่อปี และต้องไม่ใช่แค่ปีเดียว อย่างสมัยยิ่งลักษณ์ที่มีนโยบายรถคันแรก ดันให้จีดีพีขึ้น 6-7% ต่อมาก็ตกลงมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาขีดความสามรถบุคลากร เทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้เรามีปัญหาอย่างมาก” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

 

สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน โครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลนั้น มองว่า ต่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ อย่างเก่งก็ช่วยกระตุ้นจีดีพีจาก 3.2% เป็น 4% แต่ไม่เป็นการสนับสนุนการขยายของเศรษฐกิจได้แบบถาวระ เป็นเพียงตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศที่ยังขาดอยู่ในขณะนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากรัฐบาลทำการบ้านอย่างหนัก เช่น โหมเรื่องการท่องเที่ยว อาทิ สร้างอีเว้นท์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาไทย และอยู่ไทยนานขึ้น มีค่าใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น และโหมการส่งออกปีนี้มีโอกาสที่ส่งออกจะเป็นบวกได้ รวมถึงกระตุ้นการลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น 

 

“ฟรีวีซ่า ช่วยได้ระดับหนึ่ง เป็นตัวกระตุ้นเหมือนกรณีญี่ปุ่น แต่ยังไม่พอ ต้องทำให้เขารับรู้ สร้างความน่าเที่ยว ด้วยการโหมประชาสัมพันธ์  ผสมสานความราวมือรัฐ กับเอกชน เชื่อว่าไทยจะมีตัวเลขเข้ามาชดเชยโครงการเงินดิจิทัลได้ ซึ่งไม่รู้จะผ่านหรือไม่ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้ที่ 4% ต่อปี” รศ.ดร.สมชาย กล่าว