posttoday

เช็คเลย เงื่อนไข "Easy E-Receipt" ใช้อย่างไรไม่ให้เสียสิทธิหลดหย่อนภาษี

22 ธันวาคม 2566

กรมบัญชีกลาง เปิดรายละเอียดหลักเกณฑ์-เงื่อนไข การใช้ Easy E-Receipt เพื่อลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 หมื่นบาท ดีเดย์ 1 ม.ค.-15 ก.พ.67 ซื้อสินค้าอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เช็ครายละเอียดที่นี่

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการ “Easy E-Receipt” เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับe-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น

 

ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลัง  โดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการ “Easy E-Receipt” โดยให้ผู้ซื้อสินค้าสังเกตร้านค้าทีมีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ควบคู่กับ e-Tax Invoice & e-Receipt ซึ่งมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังนี้

 

1. กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย โดยค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จะได้รับสิทธิฯ ไม่รวมถึง

 (1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
 (2) ค่าซื้อยาสูบ
 (3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
 (4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
 (5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต       
 (6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567                                                                                                             (7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

 

2. กรณีการซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา ๑๐๕ แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย  เฉพาะค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ 

(1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร 
(2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 
(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับ กรมการพัฒนาชุมชนแล้ว   

 

3. ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการตามข้อ 1 และ 2 เมื่อรวมกันแล้วสามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท


“มาตรการ Easy E-Receipt จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยคาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี เพิ่มขึ้นประมาณ 0.18%” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว

เช็คเลย เงื่อนไข \"Easy E-Receipt\" ใช้อย่างไรไม่ให้เสียสิทธิหลดหย่อนภาษี เช็คเลย เงื่อนไข \"Easy E-Receipt\" ใช้อย่างไรไม่ให้เสียสิทธิหลดหย่อนภาษี

เช็คเลย เงื่อนไข \"Easy E-Receipt\" ใช้อย่างไรไม่ให้เสียสิทธิหลดหย่อนภาษี