กฟผ.แบกต้นทุนเพิ่ม 1.3 หมื่นล้าน อุ้มค่าไฟงวดใหม่
"พลังงาน" เผย หากรัฐบาลอุ้มค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 2567 เหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย ผลักภาระต้นทุน "กฟผ." เพิ่มขึ้นอีก 1.3 หมื่นล้าน รวมแบกรับ 1.2 แสนล้าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คัดค้านมติสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วยนั้น
ดูเหมือนว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แสดงถึงจุดยืนที่ชัดเจนว่า ราคาค่าไฟที่สูงขึ้นถึงหน่วยละ 4.68 บาท หรือ 17% จากราคาปัจจุบันหน่วยละ 3.99 บาท ตามที่ กกพ. ได้เปิดให้มีการสอบถามและมีมติไปนั้น ถือว่าเป็นราคาที่รับไม่ได้และจะลดค่าไฟให้ได้ในระดับไม่เกิน 2.40 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับแก้โครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่ใช่เพียงแค่ค่าไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงราคาน้ำมันด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีทีท่าที่จะเอาจริงเรื่องการปรับลดราคาพลังงานเพื่อคลายความเดือดร้อนของประชาชน แหล่งข่าวกล่าวว่า แต่ในฐานะข้าราชการกระทรวงพลังงาน อีกสิ่งที่กังวลคือ การที่รัฐบาลยังคงใช้วิธีให้หน่วยงานภาครัฐทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบกรับภาระไว้ก่อน ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่ถูกทาง จึงหวังว่าภาครัฐจะเลือกวิธีที่ดีกว่านี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับจาก กกพ. ในคณะทำงานค่าเอฟที พบว่า หากรัฐบาลเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 อยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย จะทำให้ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. แบกรับแทนประชาชนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13,950 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสะสมของค่าเอฟที ค้างรับรวมเป็น 125,950 ล้านบาท จากที่เคยปรับลดลงมาเหลือที่ระดับ 95,777 ล้านบาท ก่อนหน้านี้
ดังนั้น การที่รัฐจะบีบให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย จาก 4.68 บาทต่อหน่วย จะเป็นการสั่งให้ กฟผ. ต้องขายไฟฟ้าต่ำกว่าราคาต้นทุน และต้องแบกภาระส่วนต่างเอาไว้ ดังนั้น นโยบายที่ให้ยืดระยะเวลาการจ่ายคืนค่าเอฟทีค้างรับกับ กฟผ. เช่นนี้ จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
การให้กฟผ. แบกรับภาระค่าเอฟทีค้างรับที่มากจนเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องและต้องไปกู้เงินมาเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงินก็จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้าด้วย สุดท้ายจะทำให้ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และบริหารภาระค่าเอฟทีรวมแล้ว 110,000 ล้านบาท โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ กกพ. มีมติที่เรียกเก็บ 4.68 บาทต่อหน่วย จะยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ของ กฟผ. เป็น 2 ปี (6 งวด ตั้งแต่ ม.ค. 2567 - ธ.ค. 2568) ซึ่งหาก กฟผ. ต้องกู้เงินเพิ่ม จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้ของ กฟผ. จะสูงจนเกินไป กระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ. ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น รวมถึงกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นด้วย
นอกจากภาระค่าเอฟทีที่กฟผ. จะต้องแบกรับภาระมาเป็นระยะเวลานานเพื่ออุ้มค่าไฟฟ้า งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย นั้น ยังรวมไปถึงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู และเลื่อนการรับชำระค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ขายให้ กฟผ. งวดดังกล่าวออกไปก่อนราว 8,000-9,000 ล้านบาท
สุดท้าย ต้องเข้าใจว่าการรับภาระ การยืดระยะเวลาการจ่ายคืน ทุกอย่างถือเป็นต้นทุนที่จะต้องจ่ายคืน ซึ่งคนที่จ่ายก็จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ต้องดูว่าการลดค่าไฟลงเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วยครั้้งนี้ รัฐบาลจะใช้วิธีไหนมาบริหารจัดการ จะให้กฟผ. อุ้มทั้งหมดหรือจะให้ปตท. ลดราคาก๊าซฯ เท่าไหร่ อีกทั้ง ภาครัฐจะหางบประมาณมาช่วยเฉพาะกลุ่มอย่างไร สุดท้ายรัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจ