‘AIS’ ดันวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เมือง
เอไอเอสมองการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล จำเป็นต้องสอดรับกับความต้องการและแก้ปัญหาของเมืองได้ เพราะเมืองจะสมาร์ทได้ไม่ใช่แค่มีเทคโนโลยี แต่หัวใจสำคัญคือเทคโนโลยีต้องทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิค AIS กล่าวถึงนโยบายผลักดันไทยสู่ Smart City ในงาน PostToday Thailand Smart City 2024 จัดขึ้น ณ โรงแรม Grand Hyatt Erawan กรุงเทพฯ ว่า
‘ การทำให้เมืองมีความสมาร์ทขึ้น วัตถุประสงค์ต้องมุ่งไปที่การทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยการปรับปรุงความเป็นอยู่ของเมือง เพื่อตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และคนในชุมชน’
โดยการพัฒนาเมืองให้เข้าสู่ Smart City มีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ Smart City 1.0 ซึ่งเป็นการนำเซนเซอร์ และ IoT ไปติดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลเพื่อให้ได้ดาต้ามาประกอบการตัดสินใจอย่างแม่นยำมากขึ้น ต่อจากนั้นจึงการพัฒนาขึ้นไปอีกโดยเอาระบบทั้ง 2 ไปผนวกกับผู้คนอย่างเช่น การติดตั้งในระบบมือถือ ต่อมาจึงเข้าสู่การสร้างข้อมูลของเมืองโดยเมืองเป็นเจ้าของข้อมูลและเปิดให้เอกชนเข้าไปใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเมือง
ในปัจจุบัน เอไอเอสมองว่าทิศทางการสร้าง Smart City ในปัจจุบันคือการสร้าง Smart City Platform โดยดูว่าข้อมูลที่เก็บมานั้นสามารถนำไปใช้ทำอะไรได้
‘เมืองมีปัญหาอะไรบ้าง? ก็ทำโครงการเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ปัญหาจราจร ปัญหาขยะ’
แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งเป็นการสร้างผลกระทบในระดับกลางไปจนถึงเล็กเท่านั้น
‘ เมื่อต้นปีผมได้ไปที่สภาเมืองที่นิวยอร์ก ก็พบว่าสภาเมืองพบปัญหาเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) แม้จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่เมืองแมนฮัดตัน แต่ทันทีที่โควิดมา มีความต้องการเข้าถึงพื้นที่ดิจิทัลมากขึ้นในส่วนอื่น เมืองจึงออกกติกาว่าหากเอกชนจะติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในบริเวณเศรษฐกิจ จำเป็นต้องไปติดตั้งที่บริเวณอื่นซึ่งต้องการด้วย’
ตัวแทนเอไอเอสย้ำว่า วิสัยทัศน์ของเอไอเอสคือการทำ Best Digital Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดีที่สุด) โดยมองว่าเหมือนการสร้างสาธารณูปโภค เช่น น้ำและไฟ โดยเอไอเอสเริ่มต้นจากการวางสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ภูเขาของจังหวัดเชียงราย โดยพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่นั่นอย่างชัดเจน เมื่อผู้คนเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งการเรียนของเด็ก ทำให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเอง รวมไปถึงทำให้ครอบครัวสามารถติดต่อกันได้แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ฯลฯ
‘ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น’
นอกจากนี้แม้การวางโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมาก แต่เมื่อมองนโยบายของภาครัฐในปัจจุบันก็คิดว่าดำเนินไปในทิศทางเดียวกันและสามารถช่วยกันทำสิ่งนี้ได้ และองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ ย้ำว่าการที่จะสร้าง Smart City ให้สำเร็จได้ ต้องมีภาพว่าในอนาคตอยากให้เมืองพัฒนาและมีรูปร่างอย่างไร และควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ส่วนที่สำคัญคือต้องให้ความต้องการของประชาชนเป็นส่วนสำคัญ แล้วจึงนำเอาเทคโนโลยีทั้งระบบ IoT หรือเซ็นเซอร์ เข้าไปแก้ไขปัญหาและสร้างเมืองตามความต้องการดังกล่าว
‘เมืองไม่ได้สมาร์ทเพราะเทคโนโลยี แต่เมืองจะสมาร์ทถ้าการใช้เทคโนโลยีนั้นทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น’