posttoday

กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี มั่นใจส่งงานท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ทัน

14 พฤศจิกายน 2566

กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี มั่นใจส่งงานตามสัญญาก่อสร้างงานส่วนที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้ทันตามเวลา

รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงษ์ ไพฑูรพงย์ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมด้วยบริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC และผู้ควบคุมงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ร่วมแถลงความคืบหน้าและรายงานแผนการดำเนินงานตามที่ได้รับอนุมัติจากกทท. ให้ปรับปรุงขึ้นใหม่ ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ซึ่งมีรายละเอียด เงื่อนไขในการให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 กับสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ (ว693) และมีมาตรการเร่งรัดการปฏิบัติงานสำหรับสัญญาที่ได้รับการช่วยเหลืออัตราค่าปรับเป็นร้อยละ 0 (ว1459) ของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งกิจการร่วมค้าฯ ยังยืนยันว่าสามารถที่จะดำเนินการโครงการฯ นี้ ได้เสร็จตามแผนงานปรับปรุงใหม่ดังกล่าว

กทท. ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเล ร่วมกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัด และบริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน)) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 มีระยะเวลาดำเนินการ 1,460 วัน นับจากวันเริ่มทำงานตามสัญญา และ กทท. ได้แจ้งให้กิจการร่วมค้าฯ เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ซึ่งระยะเวลาในการเริ่มต้นดำเนินงานตามสัญญาฯ อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

ส่งผลให้การก่อสร้างของโครงการฯ ประสบปัญหาการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ วิศวกรผู้ชำนาญการ รวมถึงแรงงาน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เป็นผลให้การก่อสร้างไม่สามารถเป็นไปตามแผนการทำงานเดิม และเกิดความล่าช้า

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ข้างต้นคลี่คลายแล้วนั้น กรมบัญชีกลางได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ซึ่งมีรายละเอียด เงื่อนไขในการให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 กับสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ (ว693) และมีมาตรการเร่งรัดการปฏิบัติงานสำหรับสัญญาที่ได้รับการช่วยเหลืออัตราค่าปรับเป็นร้อยละ 0 (ว1459) โดยกำหนดแนวทางในทางปฏิบัติต่างๆ อาทิเช่น การแก้ไขสัญญาและแนวทางการปรับแผนการทำงานใหม่ ฯลฯ ซึ่ง กทท. ได้อนุมัติให้กิจการร่วมค้าฯ ทำการปรับแก้ไขสัญญาฯ ตามมาตรการภาครัฐข้างต้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 โดยคิดค่าปรับที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 0 จำนวน 422 วัน และได้มีการปรับแก้แผนการทำงานใหม่ โดยเริ่มใช้แผนการทำงานใหม่มีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ซึ่งกิจการร่วมค้าฯ ได้ดำเนินงานก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ถมทะเลส่วนที่ 1 และพื้นที่ถมทะเลส่วนที่ 2 เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตามลำดับ ส่วนพื้นที่

ถมทะเลพื้นที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) มีกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 และกำหนดแล้วเสร็จของงานในส่วนที่ 1 ทั้งหมด (ส่วนงานก่อสร้างงานทางทะเล) ในวันที่ 29 มิถุนายน 2569

โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ตามแผนการทำงานในสัญญาที่ปรับใหม่กิจการร่วมค้าฯ จะต้องทำงานให้ได้ 15.13% แต่กิจการร่วมค้าฯสามารถทำงานส่งมอบให้โครงการฯได้แล้วที่ 13.26% มีความล่าช้าจากแผนการทำงานเล็กน้อยเพียง 1.87% เท่านั้น

อย่างไรก็ตามกิจการร่วมค้าฯ มีแนวทางในการบริหารจัดการในส่วนของสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตรงตามเวลา ดังนี้

1. เพิ่มเครื่องจักร โดย งานเรียงหิน กิจการร่วมค้าฯเพิ่มเครื่องจักรขึ้นเป็นจำนวน 1.5 เท่าของเครื่องจักรที่มีอยู่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนที่ได้รับอนุมัติ ในส่วนของงานขุดลอก กิจการร่วมค้าฯเพิ่มเรือขุดเข้ามาทำงาน ทำให้ความสามารถในการขุดร่องน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.4 ล้านลบ.ม./เดือน เป็น 2 ล้านลบ.ม./เดือน

2. เพิ่มกำลังคน โดยกิจการร่วมค้าฯ เพิ่มจำนวนคนทั้งวิศวกรและคนงานให้สอดคล้องกับแผนงานและเครื่องจักรที่นำเข้ามาทำงาน

3. วิธีการดำเนินงาน โดยงานขุดลอกร่องน้ำ กิจการร่วมค้าฯ เพิ่มเวลาทำงานให้มากกว่าปัจจุบัน และเพิ่มทีมทำงานในแต่ละส่วนอีก รวม 6 ทีม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มเป็น 2 เท่าของการทำงานเดิม

4. จัด Sequence งานใหม่ กิจการร่วมค้าฯ วางแผนการทำงานเป็นขั้นตอนตามรูปแบบของงาน เพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง โดยประสานกับผู้ควบคุมงานก่อสร้างในการตรวจสอบงานเป็นระยะ

5. ปรับปรุงแนวทางบริหารโครงการ กิจการร่วมค้าฯ เพิ่มการบริหารจัดการเครื่องจักรและบุคลากรเข้ามาดำเนินการ และมีการปรับปรุงวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับแผนงานที่ได้รับอนุมัติ จึงมั่นใจว่าสามารถดำเนินงานให้แล้วเสร็จได้