posttoday

แนะเข้าซื้อทองพ.ย. ขายออกม.ค.มองหลายปัจจัยหนุนราคาทองสัปดาห์นี้ไปต่อ

06 พฤศจิกายน 2566

ฮั่วเซ่งเฮงมองราคาทองสัปดาห์นี้มีหลายปัจจัยหนุนทะยานต่อ ทั้งเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย สงครามอิสราเอล-ฮามาส และแบงก์ชาติยังเก็บต่อเนื่อง พร้อมแนะซื้อทองเดือนพฤศจิกายนและขายออกเดือนมกราคม เช่นเดียวกับนักลงทุนมองเป็นขาขึ้น

บทวิเคราะห์ราคาทองคำสัปดาห์นี้โดยบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (HGF) ระบุว่า ยังคงมีหลายปัจจัยหนุนราคาทองคำให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมแนะนะให้เข้าซื้อในเดือนพฤศจิกายน 2566 และให้เริ่มขายออกในเดือนมกราคม 2567 

Gold Bullish

– ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
– ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตภาคธนาคาร
– ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-ฮามาส
– ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง

Gold Bearish

– แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ระดับสูงที่ยาวนานขึ้น

ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองคำมีแรงเทขายออกมา แต่ก็มีแรงซื้อกลับ ทำให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวไม่ไกล 2,000 ดอลลาร์ ซึ่งราคาทองคำยังมีแรงหนุนหลายปัจจัยที่อาจทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ในระยะ 2-3 เดือนนี้

สำหรับปัจจัยแรกที่สนับสนุนให้ราคาต่อขึ้นต่อ ได้แก่ เฟดยุติการขึ้นดอกเบี้ย สัปดาห์ก่อนเฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเท่าเดิม 5.25%-5.50% ซึ่งเฟดจะมีการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธ.ค. เราคาดว่าเฟดไม่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ นั่นหมายความว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25%-5.50% ยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ และจนถึงช่วงกลางปีหน้า หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 11 ครั้งนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2565 แต่สิ่งที่ต้องจับตา ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะตัวเลขตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง CPI PPI และ Core PCE มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น นั่นอาจทำให้เฟดอาจตรึงดอกเบี้ยยาวนานขึ้น  การยุติขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อราคาทองคำ

ปัจจัยที่ 2 สงครามอิสราเอล–กลุ่มฮามาส ที่ส่อแววยืดเยื้อ และหากสงครามขยายวงกว้าง โดยมีเลบานอนและซีเรียเข้ามาร่วมทำสงครามช่วยเหลือกลุ่มฮามาส เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล คาดว่าราคาทองคำจะทะลุ 2,000 ดอลลาร์ และอาจแตะ 2,020-2,050 ดอลลาร์ ส่วนกรณีถ้าเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน  กรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากที่สุด แต่ถ้าเกิดขึ้นจะทำให้ราคาน้ำมันอาจจะพุ่งขึ้นแตะ 150 ดอลลาร์ คาดว่าราคาทองคำจะทำ All-time high ซึ่งในช่วงเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ราคาทองคปรับขึ้นแรงทำ All-time high แตะ 2,069 ดอลลาร์ในวันที่ 8 มีนาคม 2565

ปัจจัยต่อมา ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง ในปี 2565 ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำแบบโดดเด่นมากนับตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งซื้อรวมกันมากถึง 1,136 ตัน หรือมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มทองคำสุทธิ 337 ตันในไตรมาส 3 และในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารกลางซื้อทองคำสุทธิ 800 ตัน ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ถึง 14%

โดยจีนขึ้นนำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สาเหตุหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของจีนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง และลดสัดส่วนการถือสกุลเงินดอลลาร์ลง จีนกลายเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในปีนี้ โดยมีการเข้าซื้อติดต่อกัน 11 เดือน และจีนได้เพิ่มทองคำอีก 78 ตันไตรมาส 3 ทั้งนี้ธนาคารกลางจีนได้เพิ่มทองคำขึ้นกว่า 181 ตันนับตั้งแต่ต้นปี และเพิ่มขึ้นกว่า 232 ตันนับตั้งแต่การกลับมาซื้อทองคำในเดือนพ.ย. 2565

ตามมาด้วยโปรแลนด์เข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 57 ตัน ขณะที่เพิ่มขึ้น 48 ตันในไตรมาส 2 โปรแลนด์ซื้อทองคำกว่า 105 ตัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเพิ่มทองคำ 100 ตันของธนาคารกลางโปแลนด์และมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโปรแลนด์ต้องการเพิ่มทองคำเป็นทุนสำรองที่เป้าหมาย 20% จากทองคำสำรองปัจจุบันที่ 11% ทำให้ปีนี้จีน โปรแลนด์ และสิงคโปร์ มีการซื้อทองคำมากที่สุด ขณะที่รัสเซียประกาศแผนการที่จะซื้อสกุลเงินต่างประเทศและทองคำอีกครั้งเมื่อต้นเดือนส.ค. ส่วนประเทศไทยมีทองคำสำรองอยู่ที่ 244.16 ตัน ทองคำสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทยมีมูลค่า 15.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.5 พันล้านดอลลาร์ จากสิ้นปี 2562

ปัจจัยสุดท้าย แรงซื้อทองคำก่อนปีใหม่และก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้นได้ในช่วงเดือนธ.ค. ถึงเดือนม.ค. สัปดาห์นี้สหรัฐจะเปิดเผยดุลการค้าเดือนก.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.ของม.มิชิแกน (เบื้องต้น) นอกจากนี้ติดตาม การแถลงของประธานเฟด

สัปดาห์นี้คาดราคาทองคำจะเคลื่อนไหว Sideways อย่างไรก็ตามในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า คาดว่าราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หากต้องการลงทุนระยะที่ยาวขึ้น แนะนำเข้าซื้อทองคำเมื่อราคาทองคำปรับตัวลงในช่วงเดือนพ.ย.  และสามารถขายทองคำได้ในช่วงเดือนม.ค. สัปดาห์นี้ราคาทองคำมีแนวรับอยู่ที่  1,970 ดอลลาร์ และ 1,950 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 2,010 ดอลลาร์ และแนวต้าน 2,020 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 33,400 บาท และ 33,200 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 33,800 บาท และ 34,000 บาท

แนะเข้าซื้อทองพ.ย. ขายออกม.ค.มองหลายปัจจัยหนุนราคาทองสัปดาห์นี้ไปต่อ

ด้านผลสำรวจมุมมองต่อทิศทางราคาทองคำในประเทศรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6 – 10 พ.ย. 2566 จากการสำรวจ GRC Gold Survey โดย ศูนย์วิจัยทองคำ ระบุว่า 14 ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทองคำที่ได้มีส่วนร่วมตอบแบบสำรวจ ในจำนวนนี้มี 5 ราย หรือเทียบเป็น 36% คาดว่าราคาทองคำในสัปดาห์หน้าจะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 2 ราย หรือเทียบเป็น 14% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 7 ราย หรือเทียบเป็น 50% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับนักลงทุนทองคำ ได้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจ จำนวน 339 ราย ในจำนวนนี้มี 161 ราย หรือเทียบเป็น 48% คาดว่าราคาทองคำในประเทศของสัปดาห์หน้าจะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 137 ราย หรือเทียบเป็น 40% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 41 ราย หรือเทียบเป็น 12% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

สถานการณ์ราคาทองคำ

ราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% ตามประกาศสมาคมค้าทองคำ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 33,550 – 34,150 บาท ต่อบาททองคำ โดยราคาทองคำปิดอยู่ที่ระดับ 33,550 บาท ต่อบาททองคำ ลดลง 650 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า (สัปดาห์ก่อนหน้าปิดที่ 34,200 บาท) ดูรายงาน GRC ฉบับก่อนหน้า

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

1. นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED

2. ทิศทางของราคาน้ำมัน นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสจะลุกลาม และส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตะวันออกกลางหรือไม่

3. รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ จะมีการปรับเวลาช้าลง 1 ชั่วโมงจากเดิม เนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โดยมีรายงานที่สำคัญ ได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเมื่อเดือน กันยายน 2566, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พฤศจิกายน 2566 (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์