posttoday

คลังหั่น เป้าจีดีพี ปี66 เหลือ 2.7% คาดปี 67 เร่งตัวขึ้นอยู่ที่ 3.2%

27 ตุลาคม 2566

สศค. ปรับลดคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือ 2.7% จากเป้าเดิม คาดโต 3.5% หลังประเมินส่งออกหดตัว-1.8 ผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว-จำนวนนักท่องเที่ยวไม่มาตามคาด คาดปี 67 โต 3.2% จาก 3 แรงหนุน การบริโภคเอกชน-ส่งออก-ท่องเที่ยว

นายพรชัย ระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการ ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 - 3.2%) จากเดิมคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.5%ต่อปี หลังคาดว่า การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยหดตัวที่ -1.8%  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะหดตัวที่ -3.4% ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะทรงตัวในระดับเดียวกับปีก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยน้อยกว่าคาด

คลังหั่น เป้าจีดีพี ปี66 เหลือ 2.7% คาดปี 67 เร่งตัวขึ้นอยู่ที่ 3.2%

“ปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเพียงประมาณ 27.7 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะเข้ามาประมาณ 29.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาน้อยกว่าที่คาดไว้จากปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการขยายตัวเศรษฐกิจที่ลดลงจากเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เดิมคาดไว้ 3.5% เหลือ 2.7% เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งไอเอ็มเอฟ และแบงก์ชาติ ที่เดือนก.ย.อยู่ที่ 2.8% " นายพรชัยกล่าว 


 ขณะที่การบริโภคภารรัฐอยู่ที่หดตัว -3.4% โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.5% (ช่วงคาดการณ์ 1.0-2.0%) เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานลดลง ประกอบกับมีมาตรการบรรเทาค่าครองชีพประชาชนของภาครัฐ ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายได้ที่ 1-3%

 

สำหรับ เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 2.2-4.2% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 34.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 24.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่3.1 ต่อปี(ช่วงคาดการณ์ที่ 2.1 ถึง 4.1%)

 

ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.4-  5.4%)ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.5% ต่อปี อย่างไรก็ดี การประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ในครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมผลกระทบของมาตรการ 

"เศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Walletในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.2% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่1.2%- 3.2% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.5% ของจีดีพี" นายพรชัย กล่าว

 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 


1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโต
ของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์สู้รบในอิสราเอลและกาซาที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องติดตามบทบาทและท่าทีของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด 


2. ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้า
หลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

 

3. สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย


4. ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจทำให้เกิดภัยแล้งในปี 2567 ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร