posttoday

ไม่เกินสิ้นเดือน “พีระพันธุ์” มั่นใจชงครม.ลดเบนซินลงทันที 2.50 บาทต่อลิตร

18 ตุลาคม 2566

“พีระพันธุ์” รมว.พลังงานเร่งหารือภายในสัปดาห์หน้าหาข้อสรุปมาตรการ "ลดภาษี-กองทุนน้ำมัน" มั่นใจภายใน 2 สัปดาห์เสนอ ครม.ลดราคาน้ำมันเบนซินลงทันที 2.50 บาทต่อลิตร

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการเดินหน้ามาตรการลดราคาน้ำมันเบนซิน (แก๊สโซฮอล์ 91) ลงลิตรละ 2.50 บาท  ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงสร้างค่าพลังงานปัจจุบัน ในภาวะที่ราคามันต้นทางจนถึงปลายทางมีราคาที่ต่างกัน หากจะทำได้ทันทีรัฐต้องสนับสนุนราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน การปรับลดรายได้ของรัฐจึงเป็นการดำเนินการเฉพาะหน้าที่ง่ายที่สุด

ส่วนการดำเนินการระยะยาว ต้องดูว่าสิ่งที่ประกอบปลายทางแต่ละช่วงจะลดได้หรือไม่ และต้องอยู่ภายใต้ความเป็นธรรม ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะลดราคาน้ำมันเบนซินด้วย ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย 

สำหรับสาเหตุที่เลือกช่วยเฉพาะน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ก่อนนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การช่วยเหลือยึดหลักการเดียวกับการช่วยราคาน้ำมันดีเซล ที่เลือกชนิดน้ำมันที่ราคาต่ำที่สุดเพื่อให้ภาครัฐไม่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป และจากสถิติพบว่า เบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ยังมีคนใช้อยู่ โดยเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 

ทั้งนี้ กรอบเวลาต้องทำเหมือนกับมาตรการดีเซลก่อนหน้านี้คือ  3 เดือน คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ จะได้ข้อสรุปว่าจะใช้เครื่องมือผ่านการลดภาษี หรือใช้กลไกสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เข้ามาดูแล ก่อนจะเสนอครม.ได้ในสัปดาห์ถัดไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นกำหนดค่าการตลาดไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรนั้น พบว่า มีข้อติดขัดทางกฎหมายที่ไม่เอื้อให้สั่งการกับผู้ค้าน้ำมันได้ ดังนั้นจะมีการยกร่างกฎหมายในส่วนนี้ รวมทั้งจะพิจารณากฎหมายในภาพรวมทั้งหมด ล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา1ชุด เพื่อพิจารณาแล้ว มีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายอธึก อัศวานันท์ เป็นประธาน และมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง กำหนดให้มีรายงานความคืบหน้าทุก 30 วัน

สำหรับความคืบหน้าการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่คณะกรรมการกฟผ.ชุดเก่าเสนอชื่อ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการกฟผ.คนใหม่ นั้น ตนขอยืนยันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงพลังงานไม่มีหน้าที่อนุมัติ แต่มีหน้าที่ส่งเอกสารให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา

ที่ผ่านมาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยนำชื่อเข้า ครม.โดยครม.เห็นชอบแบบมีเงื่อนไขว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ต้องเห็นชอบด้วย แต่ต่อมากกต.แจ้งกลับมาว่าไม่เห็นชอบ กระทรวงพลังงานจึงสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้คำตอบว่าต้องให้หน่วยงานกฟผ.ยืนยันรายชื่อเสนอ ครม.ชุดใหม่ ดังนั้นกฟผ.ต้องยืนยันเพื่อให้กระทรวงพลังงานนำชื่อเข้าครม.ต่อไป