posttoday

กทม.คาดทดสอบระบบเตือนภัย Cell Broadcast 15 ม.ค.67

11 ตุลาคม 2566

กรุงเทพมหานคร หารือ กสทช.พัฒนาระบบเตือนภัย Cell Broadcast พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมกัน ชี้ทำได้ทันที หากรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ รับปากกสทช.จะทดลองระบบแจ้งเตือนในพื้นที่ กทม.บางจุด 15 ม.ค.67

ผศ.ทวิดา กมลเวชช  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านภัยพิบัติและสาธารณสุข กล่าวว่า กทม.ได้หารือกับ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธานบอร์ดกสทช.) เพื่อพัฒนาระบบเตือนภัย ที่ใช้เทคโนโลยี Cell Boardcast หรือ การส่งข้อความแจ้งเตือนพิบัติมายังโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยตรง

จากการพูดคุยทราบว่า กสทช. ได้ศึกษาและพัฒนาระบบที่จะนำมาใช้ไว้ระดับหนึ่งแล้ว เมื่อเทียบกับระบบของต่างประเทศ โดยระบบของกสทช. มีความพร้อมในเชิงเทคนิค ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาดำเนินการ หากมีการหารือกับรัฐบาลน่าจะได้รับการสนับสนุน ดังนั้นจะสามารถดำเนินการได้ทันที 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์หรือทางเทคนิคแล้ว ก็ยังต้องดูถึงโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ด้วยว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน แต่ละพื้นที่มีความพร้อมสอดคล้องกับระบบมากน้อยเพียงใด และระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้ให้สอดคล้องกับระบบมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่หรือไม่ 

ยกตัวอย่างพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มีความซับซ้อนและความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เรื่องนี้จึงต้องให้กสทช. เข้าใจด้วย เบื้องต้นคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการดูข้อมูลในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ 

ทั้งนี้ในการหารือ ประธานบอร์ด อยากให้มีการทดลองระบบภายในวันที่ 15 ม.ค.2567 ซึ่งกทม.แจ้งว่าในทางเทคนิคไม่มีปัญหา แต่ในการส่งข้อความ สิ่งสำคัญที่สุด เวลาข้อความมาจากต้นทาง ต้องเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ ข้อมูลต้องถูกวิเคราะห์มาแล้วดังนั้น ระเบียบเงื่อนไขและข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลแต่ละแบบ จะต้องมีความชัดเจนเพราะสิ่งที่จะเตือนภัยไม่ใช่เฉพาะภัยธรรมชาติ อาจรวมถึงภัยฉุกเฉินสาธารณะภัยที่มีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนได้รู้ถึงสถานการณ์โดยเร็วที่สุดและสามารถหาทางแก้ไขและเอาตัวรอดได้

ผศ.ทวิดา กล่าวอีกว่าเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแก้ไขประเด็นที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน อย่างรอบคอบ โดยกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพร่วมในการเชิญคณะทำงานมาหารือระหว่างแนวทางการทำงานในพื้นที่

ขณะที่ กสทช.จะทำระบบ โครงสร้างพื้นฐานและข้อกฎหมายในการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยจะมีการเชิญหน่วยงานที่เป็นต้นทางของข้อมูล เช่น ข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธานี กรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน และที่สำคัญคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อทำมาหาพร้อมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อทำระบบทดสอบเบื้องต้นขึ้นมา