posttoday

เงินเฟ้อส.ค.ขยับขึ้น 0.88% ต่ำสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

05 กันยายน 2566

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ ส.ค.66 เพิ่ม 0.88% ขยับขึ้นเล็กน้อย ตามทิศทางราคาพลังงาน แต่ยังต่ำสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ห่วงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ กดดันเงินเฟ้อพุ่ง หากสถานการณ์เปลี่ยนเตรียมทบทวนเป้าใหม่ จากกรอบเดิมที่ 1.0 -2.0%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า  ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับ 108.41 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 107.46 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.38% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงาน ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ หากเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ณ เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของ หลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นบางประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ อินเดีย ที่อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม

อัตราเงินเฟ้อเทียบระหว่างไทยกับต่างประเทศ

เงินเฟ้อส.ค.ขยับขึ้น 0.88% ต่ำสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
 

 

เงินเฟ้อส.ค.ขยับขึ้น 0.88% ต่ำสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2566 ที่สูงขึ้น 0.88% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้


หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.98% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท ยกเว้นกลุ่มดีเซลราคาปรับลดลง รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ 


หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเพียง 0.74%  ราคาชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา 
ทั้งนี้มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) ผักและผลไม้สด (มะนาว ขิง กระเทียม เงาะ แตงโม ส้มเขียวหวาน) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง) 
ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก และผักสดบางชนิด (ต้นหอม พริกสด ผักชี ผักคะน้า)  
 

เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.79% ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 สะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันของต้นทุนการผลิตที่นอกเหนือจากราคาพลังงานน้อยลง 

 

ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค. - ส.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.01% 3  ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด 1.0 – 3.0%

 

สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกันยายน 2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ 

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และการลงทุนภายในประเทศ รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือนกันยายน 2565 ที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้มและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป 

 

“กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไป ปี 66 อยู่ในกรอบ 1.0 -2.0 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.5% และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง” นายพูนพงษ์ กล่าว