posttoday

ม.เชียงใหม่ เปิดตัว “builds” โปรแกรมปั้นสตาร์ทอัพในรั้วมหาวิทยาลัย

19 สิงหาคม 2566

ต่อยอดงานวิจัยในสถาบันการศึกษา มั่นใจเพิ่มความแข็งแกร่งให้คลัสเตอร์เศรษฐกิจภาคเหนือและเป็นต้นแบบให้ภูมิภาคอื่นตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ชื่นชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้เปิดตัวโปรแกรม “builds” ซึ่งเป็นโครงการที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาทุกชั้นปีในมหาวิทยาลัยสามารถเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ด้วยการนำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยมาต่อยอดเป็นธุรกิจต่างๆ

ม.เชียงใหม่ เปิดตัว “builds” โปรแกรมปั้นสตาร์ทอัพในรั้วมหาวิทยาลัย

เกิดการลงทุน การจ้างงานสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ ด้วยเป้าหมายภายในปี 2569 จะสร้างนักศึกษาที่สนใจเป็นสตาร์ทอัพ 4,200 คน เกิดทีมสร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจไม่น้อยกว่า 600 ทีม และตั้งธุรกิจไม่น้อยกว่า 240 บริษัท มีการจ้างงาน 3,600 คน สร้างรายได้มากกว่า 4,500 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจภาคเหนืออีก 8,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าโครงการฯ จะเป็นกำลังสำคัญช่วยเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจคลัสเตอร์สำคัญๆ ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ตลอดจนเป็นต้นแบบให้สถาบันการศึกษาในภาคอื่นๆ ในการสร้างผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคได้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยการวิจัยและพัฒนา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13  ซึ่งแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ส่วน คือ เศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 เขต และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ประกอบด้วย 1)ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ครอบคลุม จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง

2)ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(NeEC) ครอบคลุมจังหวัด นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย 3)ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก(CWEC) ครอบคลุมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี  และ 4)ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษธานี และนครศรีธรรมราช

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ โดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามาสนับสนุน อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งที่เป็นมาตรที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี สนับสนุนงบวิจัยและพัฒนา ดึงสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้และการวิจัย ซึ่งกรณีของ NEC ในภาคเหนือ รัฐบาลสนับสนุนให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศ มีคลัสเตอร์เป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น บริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร