posttoday

AOT ติดต้ัง Solar Rooftop ดันสนามบินสุวรรณภูมิ ต้นแบบ Green Airport

10 สิงหาคม 2566

บริษัท ท่าอากาศยานไทย เปิด Solar Rooftop เดินหน้าขับเคลื่อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สู่ต้นแบบ Green Airport สนามบินรักษ์โลกแห่งแรกในไทย

บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) จัดพิธีเปิดโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Solar Rooftop) อย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และนายสุวิทัต วงศ์วิเชียร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายการพาณิชย์) เข้าร่วมพิธีฯ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต

 

ดร.กีรติ กล่าวว่า โครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) นับเป็นหนึ่งโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อน ทสภ.ให้ก้าวสู่การเป็นสนามบินต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Airport) แห่งแรกในไทย AOT จึงได้ร่วมกับ DCAP ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 4.4 MW (เมกะวัตต์) บนหลังคาอาคารผู้โดยสาร ทสภ. เพื่อนำไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์มาพัฒนาใช้หมุนเวียนภายในท่าอากาศยาน ซึ่ง AOT มั่นใจว่าโซลาร์เซลล์จะทำให้ความร้อนภายในอาคารผู้โดยสารลดลงมากกว่า 7 องศา ลดการใช้พลังงานระบบความเย็นภายในอาคารได้ 2% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 11 ล้านบาทต่อปี สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3,600 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับจำนวนต้นไม้ 360,000 ต้นต่อปีที่ต้องใช้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์

 

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินโครงการดังกล่าว AOT ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ร่วมกันวางแผนพัฒนาและทดสอบหลากหลายขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานในระดับสากล และมั่นใจได้ว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ปลอดภัย ไม่กระทบต่อการบินและการควบคุมการจราจรทางอากาศตามกฎขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ตลอดจนมั่นใจได้ว่าไม่กระทบต่อตัวอาคารแต่อย่างใด AOT ให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเดินทาง การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด การติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาอาคารผู้โดยสารเป็นแนวคิดที่จะนำพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในโครงการรักษ์โลกที่จะนำไปสู่แผนพัฒนาอุตสาหกรรมทางการบินอย่างยั่งยืน

 

สำหรับเป้าหมายต่อไปคือ การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนอาคารต่างๆ รวมถึง Floating Solar บนพื้นน้ำในเขต ทสภ.โดยมีเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 50 MW ซึ่งเท่ากับปริมาณไฟฟ้า 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของท่าอากาศยาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าอากาศยานชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป