posttoday

หอการค้าฯ ชี้ เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจซึมตัว หวังตั้งรัฐบาลเสร็จในก.ย.นี้

08 สิงหาคม 2566

ม.หอการค้าไทย ห่วงเริ่มเห็นสัญญานเศรษฐกิจไทยซึมตัว หลังการเมืองไม่นิ่งลากยาว ชี้เศรษฐกิจอ่อนแอ ไร้แรงกระตุ้น ทำประชาชน-ภาคธุรกิจกังวล ชะลอการใช้จ่าย-ลงทุน ฉุดวันแม่ปีนี้ เงินสะพัด 1.06 ล้าน ลดลง 2.3% หวังตั้งรัฐบาลใหม่ภายในก.ย.นี้ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้า

นายธนวรรธน์  พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า จากสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงหยุดวันแม่แห่งชาติปี 2566 พบว่า จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจประมาณ 10,632.57 ล้านบาท ลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่า เหตุผลเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ สะท้อนว่า ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และ ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอยไปบ้างแล้ว ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา จึงถือเป็นการติดลบในสถานการณ์ปกติใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มีความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่าย 5.34% ความมั่นคงในอาชีพ 52.5% ความมั่นคงทางการเงิน/รายได้ 52.3%

หอการค้าฯ ชี้ เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจซึมตัว หวังตั้งรัฐบาลเสร็จในก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินพบว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ มีการฟื้นตัวแบบ K เชฟ ซึ่งกลุ่มที่ยังได้อนิสงส์ยังเป็นภาคการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และภาคไอที ที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจภาคอื่นๆ เริ่มนิ่ง เห็นสัญญานซึมตัวลง เริ่มตั้งแต่การเมืองไม่นิ่ง มีความไม่แน่นอน หรือ ตั้งแต่มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น จึงเริ่มเห็นสัญาณความผิดปกติของกำลังซื้อที่ไม่คึกคัก และแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอ่อนแอลง ประกอบกับช่วงไตรมาส 3 ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว 

 

“มีความกังวลของการซึมตัวลงของเศรษฐกิจ หลังมีสัญญานชัดเจนมา 2 เดือนแล้ว เป็นการโตแบบ K ขาสั่น สะท้อนว่า ประชาชน และภาคธุรกิจกังวลต่อสถานการณ์การเมือง และมีผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องค่าครองชีพ รายได้ไม่พอรายจ่าย  จึงชะลอการใช้จ่าย การลงทุน สะท้อนความกังวลเริ่มกัดกล่อนการลงทุน ความเชื่อมั่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นนาน เราควรมีรัฐบาล เศรษฐกิจไทยจะขาดโมเมมตั้ม” นายธนวรรธน์  กล่าว
 

 

ดังนั้น หอการค้าไทย จึงหวังว่า จะได้รัฐบาลใหม่ในเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ถ้าตั้งรัฐบาลได้ เศรษฐกิจจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการจับมือกันได้ของพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ทำให้เริ่มเห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลมากขึ้น เพราะจะทำให้เกิดเสียงได้เกิน 212 เสียง แน่นอนว่า มีโอกาสจะหาพรรคอื่นๆมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้เกิน 250 เสียง แต่ก็ต้องจับตาในส่วนของวุฒิสภาด้วยว่า จะสนับสนุนเสียงให้พรรคเพื่อไทยหรือไม่ โดยเฉพาะการเสนอชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดต นายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ ซึ่งยอมรับว่า ยังมีความไม่แน่นอนที่ต้องจับตา นอกจากนี้ ต้องรอดูการ กรณีศาลรัฐธรรมนูญ จะชี้ว่า จะโหวตชื่อ นายพิธา ซ้ำได้หรือไม่ หากสามารถโหวตได้ อาจถูกปฎิเสธโดยสว. และถ้าชี้ว่าโหวตชื่อซ้ำได้ กรณีดังกล่าวก็จะมีผลต่อการเสนอชื่อนายกฯ อื่นๆ ด้วยเช่นกัน 

 

"ถ้านายเศรษฐา ถูกเสนอเชื่อ และรับการสนับสนุน ก็จะได้ตัวนายกฯ ก็จะมีรัฐบาลทันที ดังนั้นทางออกทางการเมือง คือ ประเทศต้องมีรัฐบาล ทุกฝ่ายต้องเสียสละเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ จึงตั้งรัฐบาลสูงในเดือน ส.ค.-ก.ย. และตั้งครม.เพื่อกำหนดนโยบาย เพื่อนำเสนอสภาฯได้ภายในเดือนก.ย.นี้ หลังจากนั้นการทำงบประมาณจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดการใช้จ่าย จะมีเงินสะพัดในไตรมาส 4/2566 นักลงทุนจะกลับมาลงทุน เพราะไทยมีความแข็งด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้ในไตรมาส 4  จีดีพีโตอยู่ในกรอบ 3.5% อย่างไรก็ตามจะมีคาดการณ์ใหม่อีกครั้งหลังตั้งรัฐบาลเสร็จ หรือในช่วงกลางเดือนก.ย.นี้" นายธนวรรธน์  กล่าว

 

ส่วนการชุมนุม ประเมินว่า ขณะนี้ไม่มีผลกระทบ หรือปั่นทอนเศรษฐกิจปัจจุบันเศรษฐกิจ เพราะการชุมนุมยังอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่ปักหลักถาวร ส่วนการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคาดว่า ตัวเลขยังคงเดิม คือ ครึ่งปีแรก จะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 13 ล้านคน และครึ่งปีหลังจะใกล้เคียงกับครึ่งแรก ทำให้ทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ  25 ล้านคน เพราะยังไม่มีปัจจัยกระทบรุนแรงทำให้กระทบต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย