posttoday

“สภาผู้บริโภค” อัดรัฐปล่อยผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่โขกค่าการตลาดขัดมติกบง.

12 กรกฎาคม 2566

สำนักงานสภาผู้บริโภค เรียกร้องรัฐคุมเข้มค่าการตลาดน้ำมัน โดยประกาศเกณฑ์ให้เป็นมาตรการบังคับใช้ พร้อมกำหนดบทลงโทษ หลังบริษัทน้ำมันเพิ่มค่าตลาดสูงกว่า 3 บาทเกินกรอบกบง. อัดรัฐไม่ดูแลทำผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม หวังรัฐบาลใหม่สางปัญหาพลังงาน

นาย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่าขณะนี้ ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ได้เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่า 3 บาทต่อลิตร ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กำหนดให้ค่าการตลาดที่เหมาะสมของน้ำมันเชื้อเพลิงรวมทุกผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ในกรอบ 2 บาทต่อลิตร  

 

                                    ค่าการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ (ม.ค.-11 ก.ค.66)

“สภาผู้บริโภค” อัดรัฐปล่อยผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่โขกค่าการตลาดขัดมติกบง.

“สภาผู้บริโภค” อัดรัฐปล่อยผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่โขกค่าการตลาดขัดมติกบง. ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน 

 

โดย ค่าการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศของไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 11 ก.ค.2566 พบว่า ค่าการตลาด กลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 1.92 บาทต่อลิตร หรือ ตั้งแต่ พ.ค.- มิ.ย. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร ขณะที่ กลุ่มเบนซิน ตั้งแต่ ม.ค.-ปัจจุบัน เพิ่มสูงกินกว่า 3 บาทต่อลิตร เช่นเดียวกับ แก๊สโซฮอล์ ราคาเกินกว่า 3 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้ผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการเก็บค่าตลาดที่สูงเกินควรเป็นตลอดช่วงที่ผ่านมา 

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ค่าการตลาดที่กบง.กำหนดไว้ เป็นเพียงเกณฑ์อ้างอิง เพื่อติดตามความเหมาะสมของการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันของผู้ค้าปลีกเท่านั้น ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับใช้กับผู้ค้าปลีกอย่างเป็นรูปธรรม เพราะปัจุบันไทยใช้นโยบายการเปิดเสรี และโครงสร้างราคาน้ำมันแบบลอยตัว ทำให้การปรับเปลี่ยนราคาอยู่ภายใต้การพิจารณาของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ค่าการตลาดของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ตลอด ช่วงม.ค.-มิ.ย.2566 สูงเกิน 2 บาทอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐไม่ได้มีความพยามที่กำกับ ติดตามอย่างจริงจัง

 

“ค่าการตลาดเป็นรายได้ของผู้ค้าปลีกน้ำมัน โดยเฉพะรายใหญ่ ซึ่งเราจะเห็นว่า สัปดาห์นี้ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินสูงเกิน 3 บาทต่อลิตร ขณะที่เกณฑ์ค่าการตลาดอยู่ที่ 2 บาท ผู้ค้าควรปรับราคาขายปลีกลงมา 60 สตางค์  ปรากฎว่า ผู้ค้าไม่ปรับลดราคาลดลง แต่ในช่วงที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับขึ้น เราจะเห็นผู้ค้าปรับขึ้นราคาขายปลีกหน้าปั๊มขึ้นทันที เพื่อให้ค่าการตลาดของกลุ่มเบนซินไปอยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ค่าการตลาดสูงเกิน 3 บาทมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และไม่เคยลดลงต่ำกว่า 2 บาทเลย” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

 

นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สำนักงานสภาผู้บริโภค ได้เสนอให้ภาครัฐทบทวน นโยบายปล่อยเสรี โดยภาครัฐต้องมีกลไกลที่ดีมากำกับดูแล เนื่องตลาดน้ำมันของไทยไม่ได้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันแบบสมบูรณ์ ตามนโยบายที่อยากให้ตลาดเกิดการแข่งขัน เพราะทราบกันดีว่า ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่มีส่วนสัมพันธุถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ ในขณะที่ผู้ค้าอื่นๆ ที่เป็นรายเล็กไม่ได้มีสายป่านยาวไปถึงโรงกลั่น จึงต้องซื้อน้ำมันต่อจากรายใหญ่ ทำให้ได้ส่วนต่างกำไรอยู่ที่เพียงหลักเศษสตางค์เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ค่าการตลาดที่กบง.เคาะมาไปตกอยู่ที่ผู้ค้ารายใหญ่
 

  โครงสร้างราคาน้ำมัน 

“สภาผู้บริโภค” อัดรัฐปล่อยผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่โขกค่าการตลาดขัดมติกบง.                                                          

ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน 


พร้อมกันนี้ นายอิฐบุรณ์ ยังฝากถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า ที่ผ่านมาประชาชนมีความตึงเครียดจากภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระบบการขนส่งของไทยในขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ระบบรางยังไม่ครบสมบูรณ์เหมือนในต่างประเทศ เช่น มาเลเชีย สิงคโปร์ ดังนั้นการปรับขึ้นราคาน้ำมันโดยเฉพาะภาคขนส่งที่ใช้น้ำมันดีเซล จึงไม่ควรปรับขึ้นอย่างเต็มที่ในตอนนี้ และรัฐบาลควรทำให้ราคาน้ำมันดีเซล อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรไปก่อน ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ โดยการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จากปัจุบัน 4 บาทต่อลิตรลดลงเหลือ 2 บาทต่อลิตร  

 

ส่วนกลุ่มน้ำมันเบนซิน รัฐบาลควรมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ในการทำให้ค่าการตลาดเป็นมาตรการบังคับใช้ร่วมด้วย ไม่ใช่ปล่อยเสรีแบบนี้ จนทำให้ราคาไม่สามารถกลับดึงมาได้ นอกจากนี้รัฐมีแผนที่จะลดชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซิน ซึ่งเห็นว่าภาครัฐต้องมีการถามความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวางก่อน ไม่ใช่กำหนดราคาเองว่าให้อยู่ที่ 20 บาทต่อลิตร รวมไปถึงราคาของไบโอดีเซลด้วย เพื่อความโปร่งใส เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ไม่ใช่ E20 จึงอยากขอให้รัฐบาลชุดใหม่คุมค่าการตลาดของแก๊สโซฮอล์ 95 ไม่ควรสูงเกิน 2 บาทต่อลิตร ถึงจะเป็นธรรมกับประชาชน ส่วนดีเซล ควรจะทำให้กลับลดลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร์ได้ 

 

“นอกจากนี้ เห็นควรว่ารัฐต้องมีบทลงโทษ เพราะทุกวันนี้ก็เหมือนปล่อยฟรี  แน่นอนต้องมีผลกระทบกับรายใหญ่ที่มีพาเวอร์ มีอำนาจต่อรองค่อยข้างสูงในทุกๆรัฐบาลที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับความเดือนร้อน แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะรัฐบาลที่เป็นตัวแทนประชาชนไม่ทำอะไรเลย” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

 

 

สถานะการเงินกองทุนน้ำมันล่าสุด (ณ 9 กค.66)  

“สภาผู้บริโภค” อัดรัฐปล่อยผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่โขกค่าการตลาดขัดมติกบง.

                               
ที่มา : สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ หวังว่า รัฐบาลใหม่ เข้ามาตรวจการก่อภาระหนี้สิน จากนโยบายการปล่อยลอยตัวราคา LPG ของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ไปใช้นโยบายให้ราคา LPG ในประเทศ ลอยตัวเทียบเท่ากับราคา LPG นำเข้าจากซาอุดิอารเบีย สุดท้ายในช่วงปลายท้ายนโยบายรักษาการ ก็ได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว จึงทำให้สถานการณ์หนี้ LPG ค่อยๆดีขึ้น มีการจ่ายเงินชดเชยน้อยลง แสดงว่า เห็นมความผิดพาดจากนโยบายดังกล่าว

 

“ ภาระหนี้ก็แสดงออกมาจากเงินบัญชีน้ำมันที่จ่ายไปให้บัญชี LPG ที่ประมาณ 23,425 ล้านบาท และส่งผลให้ภาระหนี้โดยรวม LPG ณ ปัจจุบัน รวมกับเงินกู้ จาก 55,000 ล้านบาท ผ่อนถ่ายให้มาอยู่บัญชี LPG ที่ 15,880 ล้านบาท รวมแล้วสถานะหนี้ของกองทุน LPG จึงเกิดเป็นติดลบถึง 45,000 ล้านบาท ทำให้สถานะของเงินกองทุนน้ำมันติดลบโดยรวมอยู่ที่ 52,270 ล้านบาท ส่งผลให้คนใช้น้ำมันทุกชนิดต้องถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อมาโปะหนี้จากนโยบายที่ผิดพาด และตอนนี้ทางสภาฯ กำลังจะมีทำหนังสือแจ้งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปตรวจสอบกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนี้” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

 

ส่วนเมื่อวานนี้(11ก.ค.66) ครม.มีมติไม่ต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล ที่จะหมดอายุมาตรการในวันที่ 20 ก.ค.นั้น คาดการณ์ได้ว่า รัฐบาลรักษาการจะปล่อยภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร หรือปรับเพิ่มขึ้นอีก 3.66 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เก็บอยู่ 1.34 บาทต่อลิตร และเพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตรเหมือนเดิม จึงจะใช้วิธีลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจาก 4.42 บาท เหลือเก็บอยู่ที่ ประมาณ 50 สตางค์ก็เป็นได้ เพื่อรอช่วงเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลช่วงสั้น ๆ