posttoday

สร้างสตาร์ทอัพ 24FIX มาแก้ pain point งานก่อสร้าง พาฝ่าวิกฤติสู่บริษัทมหาชน

02 กรกฎาคม 2566

หลังตั้งธุรกิจครั้งแรกในวัย 18 ปี คณิศร มีพงษ์ นำประสบการณ์มาก่อร่าง 24FIX สตาร์ทอัพบริการซ่อมและสร้างแบบ Digital On-Demand Home Service ที่พลิกวิกฤติสู่โอกาสใหม่ในตลาด B2B หรือ 24X และเตรียมก้าวสู่บริษัทมหาชนในปี 2570 มุ่งขาย IPO ระดมทุนสร้างแต้มต่อสู่ตลาดต่างแดน

จากจุดเริ่มต้นด้วยบริษัทรับเหมาก่อสร้างเมื่อวัย 18 ปี คณิศร มีพงษ์ ประธานกรรมการผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ทเวนตี้โฟร์ โซลูชั่น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และเรียนรู้จาก  Pain Point ใจแวดวงงานช่างมาไม่น้อย จึงนำไปสู่การก่อตั้งกิจการสตาร์ทอัพ 24FIX เมื่อปี 2561 ที่ให้บริการซ่อมแซมและก่อสร้างที่อยู่อาศัย (Home Maintenance Service Solution) ในรูปแบบ Digital On-Demand Home Service ที่ปัจจุบันมีช่างให้บริการอยู่ถึง 542 ทีม

ผมเข้าใจ Pain Point ของทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้รับเหมาก่อสร้างดี เพราะผมทำงานช่างมาเกือบทั้งชีวิต จึงอยากอาสาเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้แบบจริงจัง ให้ลูกค้าได้บริการซ่อมแซมและก่อสร้างที่มีคุณภาพและราคายุติธรรม ขณะที่ช่างเองก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทุนและรายได้ ด้วยการพัฒนาบริการแบบ end to end service เจ้าแรกและเจ้าเดียวในเมืองไทย ซึ่งถึงทุกนี้ก็ทำไปหลายหมื่นงานและมีลูกค้ารวมกว่า 500 ราย จึงถือเป็นสตาร์ทอัพที่ทำกำไรได้แล้ว

จนปัจจุบัน รูปแบบการให้บริการโดยรวมของบริษัทได้แตกยอดและหลากหลายมาขึ้น เริ่มจาก Home Maintenance หรืองานซ่อมแซมที่อยู่อาศัยต่าง ๆ อีกส่วนคืองานตรวจสอบก่อนซ่อม ซึ่งเป็นรูปแบบบริการที่ยอดขายดีที่สุด ส่วนสุดท้ายจะเป็น renovation and refurbishment ซึ่งจะเน้นหนักให้บริการกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ เช่น บริษัทพัฒนอสังหาริมทรัพย์ โรงงาน สถาบันการเงิน (หลักประกัน) ฯลฯ รวมถึงให้บริการ outsource ด้านงานช่างให้กับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เช่น งานติดตั้งสุขภัณฑ์ งานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ งานติดตั้งและประกอบเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ทีมงานช่างของ 24FIX และ 24X

โดยปัจจุบันบริษัทให้บริการซ่อม สร้าง ติดตั้ง ต่อเติม ครอบคลุม 4 ธุรกิจหลัก ในรูปแบบ Digital On-Demand Home Service ให้กับลูกค้าภาคบุคคลและธุรกิจ ได้แก่

1) 24 FIX บริการซ่อมแซมบ้านแบบ End-to-end service ครอบคลุมมากกว่า 23 บริการหลัก และอีกกว่า 2,000 บริการย่อย ที่มา 24FIX Platform เป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการ

2) 24 House Solution บริการต่อเติมและตกแต่งภายในแบบครบวงจร โดยทีม Interior Designer และ Project Management ดูแลตลอดการทำงาน ผ่านเทคโนโลยีระบบ Real-time 3D Rendering

3) 24 FIX for Business หรือ 24X บริการซ่อมแซมสำหรับลูกค้าธุรกิจ ดูแลด้วยระบบ ระบบ CMMS หรือ Computerized Maintenance Management System  และ บริหารงานซ่อมแซมด้วย Platform EAGLE™ 

4) 24 Projects บริการออกแบบและก่อสร้างสำหรับลูกค้าธุรกิจ 

พลิกเกมเก็บตลาด B2B 

การเปลี่ยนเกมครั้งสำคัญของบริษัทเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2566 หลังพบว่ารายได้จากฝั่งลูกค้าบุคคลเริ่มร่อยหรอลง ในฐานะผู้นำคณิศร จึงตัดสินใจวางหมากใหม่ ที่มุ่งเปิดเกมกับกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจหรือให้บริการแบบ B2B ในชื่อบริการ 24X ซึ่งได้กลายเป็นธุรกิจหลักของบริษัทในปัจจุบัน ด้วยส่วนแบ่งรายได้กว่า 90% ของรายได้รวมในขณะนี้ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังให้บริการลูกค้าแบบ B2C อยู่ แต่ให้น้ำหนักกับด้าน B2B หรือบริการ 24X มากกว่า เพราะมีรายได้ที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ ซึ่งคณิศรเปรียบเทียบว่า เหมือนมีกระสุนนัดเดียวต้องยิงให้ถูกหรือนำทรัพยากรที่จำกัดไปใช้ลงทุนกับจุดที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดก่อนนั่นเอง

แต่กว่าบริษัทจะยืนอย่างมั่งคงด้วยบริการ 24X ทั้งที่ทำให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้าธุรกิจและเติบโตจนกลายเป็นฐานรายได้หลักเช่นวันนี้ได้นั้น คณิศรเปิดเผยว่าเป็นภารกิจที่โหดหินไม่น้อย ตั้งแต่การที่ทีมงานบริหารต่างไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนเกมสู่ B2B 

แล้วยังต้องเผชิญกับวิกฤติของการปรับโครงสร้างองค์กร ที่่ต้องปรับลดจำนวนพนักงานในฝั่งที่ให้บริการลูกค้าบุคคลออกไปเป็นจำนวนมาก และเป็นทีมงานที่สู้กันมาตั้งแต่วันแรก จนตัวเขาต้องถูกตั้งคำถามและไม่เป็นที่เชื่อถือจากทีมงานบางส่วน แม้ว่าคณิศรจะยืนยันว่าจะต้องกอบกู้ให้บริษัทกลับมาดีขึ้นให้ได้ภายใน 2 เดือน เช่นเดียวกับที่บริษัทเองพยายามช่วยเหลือให้พนักงาที่ต้องถูกเลิกจ้าง ไม่ลำบาก ทั้งด้วยเงินชดเชยต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายตามกฎหมายและหางานใหม่ให้ 

ผมได้เรียนรู้และบอกกับตัวเองทุกวันว่า เมื่อตื่นมาต้องสู้ ต้องทำให้ได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือจะเหนื่อยแค่ไหน  เพื่อให้ทีมผู้บริหารหรือคนที่เดินตามเรามาทุกคน สู้ไปกับเรา เพราะในวันที่ไม่มีใครเชื่อเราเขาก็จะเดินจากไป แต่เราต้องเชื่อตัวเองที่สุด

เช่นเดียวกับที่ต้องใช้ "ความกล้า" ที่จะอดทนและพยายามที่จะรอคอยให้ลูกค้าให้โอกาส ได้เข้าไปนำเสนอบริษัทให้เป็นที่รู้จัก ให้ทดลองใช้บริการ และเป็นที่ยอมรับจากลุ่มลูกค้าธุรกิจ จากที่คณิศรเล่าว่าบางครั้งต้องไปนั่งรอไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง เพียงเพื่อขอโอกาสให้ได้เข้าไปพบกับผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทที่ตัวเขามุ่งมั่นจะคว้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรายชื่อลูกค้าให้ได้ แต่ก็มีหลายครั้งที่แม้ไม่ได้รับโอกาสในตอนแรก แต่เมื่อ 24X เริ่มเป็นที่รู้จักและเกิดการแนะนำต่อ ๆ กันสุดท้ายก็ได้มาเป็นลูกค้าของบริษัทในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังวางแผนในระยะ 2 ปีที่จะขยายฐานลูกค้าในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้มีตลาดครอบคลุมทั่วประเทศไทยให้มากที่สุด โดยจะเร่งเพิ่มการฝึกอบรมช่างให้เป็นไปตามมาตรฐานบริการของบริษัทจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ขยายบริการกระจายทั่วประเทศ ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทยังมีแผนจะเพิ่มเติมบริการใหม่ ๆ เช่น บริการทำความสะอาด กำจัดแมลง จัดสวน ฯลฯ อีกด้วย

ตอนนี้ลูกค้าหลักอยู่ในกทม. และปริมณฑลถึง 90% แล้วก็เริ่มออกไปต่างจังหวัด เช่น ชลบุรีและจังหวัดอื่น ๆ ภาคตะวันออก ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และบริเวณละแวกใกล้เคียงไม่เกิน 2 ก.ม.

สร้างสตาร์ทอัพ 24FIX มาแก้ pain point งานก่อสร้าง พาฝ่าวิกฤติสู่บริษัทมหาชน

เตรียมขึ้นสู่บริษัทมหาชน 

ก่อนจะมาถึงจุดที่กิจการยืนอยู่ได้อย่างแข็งแรงเช่นวันนี้ คณิศรเล่าว่าการสร้างกิจการสตาร์ทอัพที่จะสำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มจาก Business Model และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนจับต้องได้จริง รวมถึงผ่านการลองผิดลองถูกด้วยตัวของผู้ก่อตั้งเองมาก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจใหักับนักลงทุนที่จะมาสนับสนุนตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ก่อตั้งกิจการ เช่นเดียวกับทีมงานที่ต้องพร้อมต่อสู้ฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกัน ขณะที่ต้องหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรที่กระตุ้นให้ทีมงานมี "ความกล้า" ที่จะสร้าง กล้าทดลอง หรือริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ 

ตอนแรกหุ้นส่วนบริษัทก่อสร้างไม่มีมีใครเห็นด้วยที่จะมาทำสตาร์ทอัพเลย จากที่เคยทำงานโครงการหลายสิบล้าน แล้วต้องมางานเล็ก ๆ ในตอนแรกที่เรายังเน้นกลุ่มตลาดลูกค้าบุคคลเป็นหลักอยู่ แต่ก็พยายามพิสูจน์ความเชื่อว่าธุรกิจเป็นไปได้ 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการระดมทุนล่าสุดของบริษัท คือเพิ่งปิดระดมทุนรอบซีรีส์ A ซึ่งได้รับเงินมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท จากแรงสนับสนุนของกรุงศรี ฟินโนเวต, อีซีจี เวนเจอร์ แคปปิตัล และ บริษัท บีซีเอช เวนเจอร์ส จำกัด (BCH Ventures) ในกลุ่ม บีซีจี เบญจจินดา

แต่เส้นชัยที่คณิศรหวังมุ่งหวัง คือการนำบริษัทเข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน โดยคาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรกภายในปี 2570

ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญที่ต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากต้องการขยายการเติบโตไปสู่ตลาดระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีการเติบโตของ GDP สูง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงยังมุ่งหวังจะขยายธุรกิจไปถึงยุโรปและสหรัฐฯ ในอนาคตอีกด้วย 

ผมมองว่าตอนเข้าตลาดในปี 2570 เราน่าจะทำรายได้สักประมาณ 1,300-1,400 ล้าน แต่สำหรับปีนี้มีเป้าหมายประมาณ 450 ถึง 500 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นสองเท่าจากปีที่แล้ว ซึ่งเราต้องการเติบโตปีละ 200% ต่อเนื่อง 5-6 ปีติด