posttoday

TDRI แนะรัฐปล่อยลอยตัวดีเซล ลดกองทุนฯขาดทุนหนักกว่า 6 หมื่นล้าน

22 มิถุนายน 2566

ทีดีอาร์ไอ ไม่เห็นด้วยรัฐเล็งต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เงินเฟ้อลดลงอยู่ในกรอบ แนะปล่อยลอยตัวราคาดีเซล เพื่อลดการขาดทุนของกองทุนน้ำมันฯ ที่ปัจจุบันมีสถานะติดลบกว่า 6 หมื่นล้านบาท - ควรใช้นโยบายรัฐเลือกอุ้มเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงกรณีภาครัฐพยามหาแนวทางขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลว่า ไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อพยุงราคาน้ำมัน เพราะผลที่ได้รับจากการใช้เงินเพื่ออุดหนุนน้ำมันดีเซล จะเกิดการรั่วไหล คือ มีกลุ่มที่ไม่สมควรได้รับประโยชน์ ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ภาคขนส่ง รถสาธารณะ ได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่มีอยู่จำนวนมาก 

 

“แม้ว่าน้ำมันดีเซลจะถูกใช้ในภาคขนส่งเยอะ แต่มีการใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคลไม่น้อย ซึ่งกลุ่มหลังอาจจะไม่มีเหตุผลจำเป็นที่จะเข้าไปช่วย ดังนั้น ถ้าราคาน้ำมันลดลงมากๆ ก็ควรจะเอาเงินมาลดหนี้ของกองทุนพลังงานดีกว่า” ดร.นณริฎ กล่าว

 

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีหน้าที่ในการลดความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันสูง (ราคาเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) ภาครัฐก็ได้เข้าไปแทรกแซงจนส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ขาดทุนจำนวนมาก เป็นหลักแสนล้านบาท และเมื่อราคาน้ำมันลดลงมาเหลือราวๆ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน จึงเป็นหน้าที่ของกองทุนน้ำมันฯ ที่จะเก็บเงิน เพื่อลดหนี้ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

 

“สิ่งที่กองทุนพลังงาน ทำอยู่ คือ การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ซึ่งช่วยลดการขาดทุนของกองทุน ได้เหลือขาดทุนราวๆ 6 หมื่นล้านเป็นกลไกที่เหมาะสมอยู่แล้ว” ดร.นณริฏ กล่าว
 

 

นอกจากนี้ หากดูจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ พบว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เริ่มฟื้นตัว และสภาวะเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงเข้าสู่กรอบของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แล้ว โดย เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.5-2.4%  และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าทรงตัวอยู่ที่ 2.0% จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุ้มให้ราคาดีเซลอยู่ต่ำจนเกินไป นอกจากการใช้เพื่อลดความผันผวน 

 

นอกจากนี้ ดร.นณริฏ เชื่อว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการลอยตัวดีเซล จะมีผลต่อเงินเฟ้อที่แฝงในราคาขนส่งไม่มากนัก จึงไม่น่ากังวลว่าจะทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องลดค่าครองชีพของประชาชน จึงต้องไปเน้นที่กลุ่มกลุ่มเปราะบางแทน โดยผ่านโครงการช่วยเหลือของรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง และโครงการอุดหนุนค่าไฟฟ้า เป็นต้น โดยไม่ไปกวาดการช่วยเหลือไปทุกกลุ่ม

 

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก จากการคาดการณ์ของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ( EIA) คาดว่าราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมว่าจะอยู่สูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง มีมาตรการการลดภาษีดีเซลที่ผ่านมารวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐ บาลรวม 158,000 ล้านบาท ดังนี้

 

ครั้งที่ 1 วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 2 วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 3 วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 4 วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 5 วันที่ 21 พ.ย.2565-20 ม.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 6 วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.2566 (4 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 7 วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

 

สำหรับ สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะนี้ปรับดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง แต่ปัจจุบันยังมีสถานะติดลบ 63,376 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 17,127 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 46,249 ล้านบาท จากในช่วงที่ผ่านมาเคยติดลบสูงถึง 120,000 ล้านบาท ขณะที่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการจำหน่ายปลีกน้ำมันดีเซลในปัจจุบันลิตรละ 4.20 บาท