posttoday

เปิดเหตุผล ทำไม “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” ถูกปลดรักษาการเลขาธิการกสทช.

10 มิถุนายน 2566

ย้อนรอย พิษค่าซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก 600 ล้านบาท เหตุปลด-“ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” ออกจากรักษาการเลขาธิการกสทช. พร้อมสอบวินัยเอาผิด

เมื่อปลายปี 2565 ฟีฟ่า จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022  ระหว่างวันที่ 20 พ.ย. – 18 ธ.ค. 2565 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์  แต่ปรากฏว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ไม่มีเงินสนับสนุนเพียงพอที่จะซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

กกท.จึงมาขอจับเข่าคุยขอเงินสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการคืนความสุขให้กับประชาชน เพื่อถ่ายทอดสดทั้งหมด 64 คู่

โดย กสทช.อนุมัติวงเงิน 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือ กทปส.ให้กกท.ไปซื้อลิขสิทธิ์

แต่เรื่องราวกลับวุ่นวายเมื่อ กกท. ได้ลงนามฯกับ ‘กลุ่มทรู’ ผ่านบริษัทลูก 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ,บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฯ เป็นเงิน 300 ล้านบาทในแพลตฟอร์มของ ทรูวิชันส์ ทั้งหมด

ทำให้ทีวีดิจิทัลอื่นๆไม่สามารถ่ายทอดสดได้ เกิดปัญหาจอดำ ทั้งๆที่กสทช.ใช้งบประมาณสนับสนุนไปถึง 600 ล้านบาท จึงไม่เป็นไปตามตามกฎ มัสต์แคร์รี่ ( Must Carry )  และเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) หรือ สมาคมทีวีดิจิทัล ยื่นหนังสือต่อกสทช.ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้แทนประธาน กสทช. รับหนังสือ กล่าวว่า กสทช.ไม่ทราบมาก่อนว่า กกท.ไปทำสัญญากับกลุ่มทรูฯ

แม้ว่า ในที่สุด ทรูวิชั่นส์ ทนแรงกดดันจากสมาคมทีวีดิจิทัล ไม่ไหว จนต้องคืนโควต้าถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายจำนวน 16 นัด กลับมาให้ กกท. นำมาจัดสรรให้กับทีวีดิจิทัลถ่ายทอดสดแบบคู่ขนาน แล้วก็ตาม  

แต่หลังจากถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จบการแข่งขัน บอร์ด กสทช. มีมติทวงเงินคืน 600 ล้านบาท จาก กกท. ซึ่งจนถึงวันนี้ กกท.ยังไม่สามารถนำเงินสนับสนุนมาคืนได้

ดังนั้น จึงเป็นประเด็นปมที่มาที่บอร์ดกสทช.ต้องส่งตัวแทนของบอร์ดแต่ละคนตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง จนในที่สุดก็ได้นำผลการสอบข้อเท็จจริงแบบละเอียดยิบมาเสนอต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา เป็นวาระลับ

สาระสำคัญของหลักฐานคือ “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รองเลขาธิการกสทช. ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการกสทช. รู้ว่าเอ็มโอยูมีปัญหา และไม่รอให้อัยการสูงสุดตีความก่อนลงนามให้เงินสนับสนุนกับ กกท. ที่สำคัญคือไม่รายงานให้บอร์ดกสทช.รับรู้เรื่องนี้มาก่อน 

ทำให้บอร์ดกสทช.ลงมติ 4:2 ให้ “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัยต่อไป