การเมืองฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคโตชะลอ เสี่ยงจีดีพีปี 66 โตต่ำ 2.5-3%
หอการค้าฯ ชี้หากจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว-เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนจีดีพีไทยปี66 โต 3.6-4% แต่หากการเมืองยืดเยื้อไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใน ส.ค. และเกิดม็อบลงถนน ฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 2.5-3%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือนพ.ค.2566 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 55.0 เป็น 55.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน
นอกจากนี้บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะนี้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 50.2 จากเดือนเม.ย.อยู่ที่ 49.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม 52.8 เดือนเม.ย.อยู่ที่ 52 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 64.2เดือนเม.ย.อยู่ที่ 63.6 แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังคงมีความกังวล โดยพบว่า ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมือง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
“ประชาชน และผู้ประกอบการยังมีความกังวลเหมือนกัน ในเรื่องต้นทุนค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ทำให้บรรยากาศไม่คึกคักเท่าที่ควร ขณะนี้ต่างจังหวัดก็ยังกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน ทำให้กำลังซื้อยังไม่กลับมาเป็นปกติ ”
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจ มองว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ การเมือง ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าหลังการเลือกตั้งมีเสียงตอบรับสร้างบรรยากาศคึกคัก แต่ตอนนี้ประชาชนและผู้ประกอบการกลับมีควรมกังวลว่า รัฐบาลจะจัดตั้งได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ สว.จะยกมือโหวตให้นายพิธา หรือไม่ และจะมีการประท้วงนอกสภาฯหรือไม่ ส่งผลให้ประชาชนไม่แน่ใจเสถียรภาพการเมืองยาวถึงสิ้นปี
“ตอนนี้คนยังลังเล รอดูอนาคตจะเป็นอย่างไร ไปจนถึงนโนยบายต่างๆ ทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือรื้อทุนพูกขาด ค่าแรง 450 บาทต่อวัน และการยอมรับของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนหุ้นที่ตกในช่วงหลังการเลือกตั้ง ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคเอกชน แม้จะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ยังขึ้นไม่แรง เพราะคนยังห่วง ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตโตน้อย ตีความว่าผู้บริโภคไม่มั่นใจสถานการณ์จะดีหรือมีความเสี่ยงแค่ไหน คนจึงระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะความไม่นิ่งของสถานกาณ์การเมือง และเรื่องต้นทุน ซึ่งต้องติดตามดูอีก 3-4 เดือนความเชื่อมั่นจะกลับมาได้หรือไม่”
ทั้งนี้ หอการค้าไทยฯ ยังคงประมาณการขยายตัวของเศรษกิจไทย หรือจีดีพี ปี 2566 ว่า น่าจะโตอยู่ในกรอบ หรือใกล้เคียง 3.-3.5% ภายใต้สมมิตฐาน ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล แต่รัฐบาลยังมีเสถียรภาพ ไม่มีการประท้วงนอกสภาฯ งบประมาณยังถูกใช้ได้ไปพลางก่อน และงบปี 2567 จะเริ่มใช้ได้ในเดือน ก.พ.-มี.ค.2567 และภาคการท่องเที่ยวยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา 25-28 ล้านคน
แต่หากเกิดกรณีการเมืองยืดเยื้อไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนส.ค.2566 แต่รัฐบาลรักษาการยังทำหน้าที่อยู่ และทุกอย่างเดินอยู่ในกรอบรัฐสภาฯจนถึงปลายก.ย.หรือต้นต.ค.2566 และเศรษฐกิจโลกยังฟื้น ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3% และหากจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ทิศทางเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ในกรอบ 3.6-4%
“หากไม่เป็นตามที่คาดไว้ การจัดตั้งรัฐบาลมีการเปลี่ยนขั่ว แต่การเมืองมีเสถียรภาพ ไม่มีการประท้วง เศรษฐกิจก็ยังอยู่ในกรอบ 3.6-4% แต่ถ้ามีการเปลี่ยนขั่ว เกิดการประท้วงนอกสภาฯ จนทำให้สถาทูตประกาศแจ้งเตือนพลเมือง หรือนักลงทุน มองว่าเศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำ อยู่ที่ 2.5-3% ”