posttoday

สดช.ปั้นอาสาสมัครดิจิทัล 3 แสนคนภายใน 3 ปี

07 มิถุนายน 2566

สดช. จับมือ 9 หน่วยงาน เร่งสร้างเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล 3 แสนคน ภายใน 3 ปี ลงพื้นที่ทุกหมู่บ้านสอนชาวบ้านใช้เทคโนโลยี ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สดช.) เปิดเผยว่า  สดช.ได้ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ร่วมกับ 9 หน่วยงาน คือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมราชทัณฑ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัลประจำหมู่บ้านๆ ละ 1 คน ในปี 2567 และคาดว่าจะสร้างเครือข่าย อสด. ไม่น้อยกว่า 3 แสนคน ใน 3 ปีข้างหน้า
 
ทั้งนี้ หลังจากที่ สดช.ได้รับโอนภารกิจงาน อสด.มาจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส  โดยมี อสด. เดิมอยู่ประมาณ 1,000 คน จึงต้องการเพิ่มเครือข่าย โดยได้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)  กลุ่มสภานักเรียนต่างๆ และ เจ้าหน้าที่พัฒนาความรู้ของกรมราชทัณฑ์ ฯลฯ   รวมแล้วประมาณ 1แสนคนทั่วประเทศ เข้ามารับการอบรมเป็น อสด. เพื่อที่จะะช่วยขยายเครือข่ายเพิ่ม ในอัตรา อสด. 1 คน ช่วยเหลืออบรม 4 คน  ซึ่งจะมีหน้าที่ทำงานในศูนย์ดิจิทัลชุมชนจำนวน 2,222 แห่งทั่วประเทศ เป็นผู้อบรมให้ความรู้กับ อสด.ในเรื่องดิจิทัลต่างๆ

นายภุชพงค์ กล่าวต่อว่า อสด.จะลงพื้นที่ทุกหมู่บ้าน เพื่อเข้าไปสอนประชาชนทุกกลุ่มตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้สูงวัย ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างความตระหนักด้านการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ต  ตระหนักรู้ด้านการต่อต้านข่าวปลอม การหลอกลวงด้านออนไลน์ เพื่อการป้องกันตนเองจากภัยไซเบอร์

ทั้งนี้ แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 3 (พ.ศ.2566–2570) ได้วางยุทธศาสตร์หลักเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และให้อันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทย  ที่จัดโดยไอเอ็มดี อยู่ที่ 30 ในปี 70 จากปัจจุบันอยู่ที่ 40 ซึ่งยอมรับว่าเป็นงานยาก แต่หากมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย และเร่งสร้างทักษะ ด้านดิจิทัลให้กับประชาชนก็จะทำให้อันดับ การแข่งขันทางดิจิทัลของไทย ปรับตัวดีขึ้นได้