posttoday

3 กูรูชี้นโยบายเร่งด่วน ปฏิรูปการศึกษา-ปราบคอร์รัปชัน เชียร์รื้อทุนผูกขาด

29 พฤษภาคม 2566

3 กูรูเศรษฐกิจชี้เป้านโยบายเร่งด่วน ทั้งการนำไอทีมาช่วยพัฒนา ปราบคอร์รัปชัน ปฏิรูปการศึกษาเด็กไทยและช่วยเหลือครู อีกทั้งดูแลแรงงานต่างด้าว พร้อมเชียร์รัฐบาลใหม่รื้อทุนผูกขาด

สถาบันคึกฤทธิ์ เปิดเวทีการอภิปราย เรื่อง "ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่" โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน คือ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ และ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล โดยกูรูด้านเศรษฐกิจ 3 ท่านได้ให้ความเห็นถึงนโบายเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ผลักดัน

โดย ดร.ณรงค์ชัย มองว่านโบายลดค่าครองชีพน่าจะเป็นไปได้ยากกว่าการที่รัฐบาลใหม่จะไปจัดระเบียบหรือวางแนวทางเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ง่าย โดยเฉพาะการนำไอทีมาสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและปากท้องของคน

เช่น กรณีที่ประเทศอินเดียที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วหลังติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงทุกบ้านและการพัฒนา JIO app ซึ่งเสริมให้ประชากรอินเดียเข้าถึงความเจริญได้มากขึ้น หรือแม้แต่การใช้ไอทีมาสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว

ขณะที่มองว่าการแก้กฎระเบียบต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าและต้องใช้เวลามากกว่า

ส่วนดร.ศุภวุฒิ มองว่าการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยยังจำเป็นต้องทำอยู่ เช่นเดียวกับการปราบคอร์รัปชันเป็นอีกนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน เพราะหากรัฐบาลใหม่สามารถบรรเทาปัญหาคอร์รัปชันได้ ก็จะช่วยทุกอุตสาหกรรมได้และแก้ปัญหาได้หลายเรื่อง 

นอกจากนี้ นโยบายปฏิรูปการศึกษาของเด็กไทยก็เป็นอีกนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งผลักดัน แม้อาจไม่ได้เห็นผลระยะสั้นแต่ก็ต้องรีบดำเนินการ ทั้งในส่วนของรูปแบบการเรียนการสอนและแก้ปัญหาในส่วนของคุณครูด้วย

นั่นคือ การปฏิรูปการศึกษาต้องดำเนินการพร้อมกันทั้งเรื่อง Upskill และ Reskill ส่วนการแก้ปัญหาฝั่งของคุณครูคือ ต้องดูแลทั้งด้านจำนวนครูไม่เพียงพอ และเรื่องปัญหาหนี้ของครู ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องแก้ไขด้วย เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสมาธิในการสอนหนังสือและการทำงานของคุณครูด้วย

ทั้งนี้ดร.ศุภวุฒิยังเน้นย้ำอีกว่าอยากเห็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษามากกว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และอยากเห็นว่าจะมาแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของเด็กและในส่วนของครูได้อย่างไร

ขณะที่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร อยากฝากเรื่องนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว ซึ่งต้องการเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนที่มาจากรัฐบาลเอง โดยไม่ต้องไปขอความเห็นจากฝั่งข้าราชการก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งล่าช้าไป และวางเป็นกฎระเบียบที่น่าจะประกาศใช้ได้ทันที อีกทั้งมองว่าการนำเรื่องไอทีมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวก็เป็นทางออกที่ดี

สำหรับความเห็นต่อนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ก่อนนี้มีอดีตผู้บริหารในแวดวงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมมองว่า มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบนั้น ดร.ศุภวุฒิ โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่านโบายส่วนใหญ่ของพรรคก้าวไกลเป็นนโยบายที่ดี โดยเฉพาะเรื่องรื้อทุนผูกขาด เพราะการผูกขาดเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจต่ำ จากการที่ขายสินค้าราคาแพงและความหลากหลายน้อย

ทั้งนี้การทลายทุนผูกขาดในระยะยาว นอกจากกำหนดเรื่องการทำสัญญาสัมปทานต่าง ๆ กับภาครัฐให้โปร่งใสแล้ว รัฐบาลยังต้องสร้างการแข่งขันที่แท้จริงในระยะยาวร่วมด้วย หรือดีกว่านั้นคือส่งเสริมให้คนไทยไปแข่งขันในตลาดโลกได้

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร มองว่าเห็นด้วยที่นโยบายทลายทุนผูกขาดไปกระทบตลาดหุ้นจริง จนส่งผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องดูด้วยว่าหุ้นที่ตกลงหรือเป็นตัวแดงต่างเป็นหุ้นที่เคยปั่นกันมาก่อนนี้จนราคาขึ้นมา ขณะที่หุ้นพื้นฐานที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จริง ๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของพรรคก้าวไกล

ส่วนการที่มีคนมาพูดว่านโยบายทลายทุนผูกขาดทำให้ตลาดหุ้นแดงนั้น ส่วนตัวมองว่า นโยบายนี้ไม่ได้ทำให้ตลาดแดงในจุดที่ไม่ควรจะแดง เพราะหุ้นที่ดีไม่ได้แดง แต่ที่แดงคือหุ้นที่มี market maker

"ผมอยากฝากว่า นโยบายทลายทุนผูกขาดเป็นนโยบายที่น่าจะเชียร์ เพราะทุนผูกขาดเริ่มกลายเป็นนิสัย มีการใช้คำลักษณะว่าถ้ามีโอกาสก็ต้องรีบทำ เพื่อให้ dominate ตลาดได้ เพื่อให้ชั้นครอบครอง เป็นโอกาสของชั้น ๆ ต้องทำ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ไม่ดีสำหรับประเทศชาติ" ม.ร.ว. ปรีดิยาธรกล่าวทิ้งท้าย