posttoday

4 เดือนแรก ต่างชาติลงทุนไทยพุ่ง 3.8 หมื่นล้านบาท

20 พฤษภาคม 2566

ต่างชาติยังเชื่อมั่น ดัน 4 เดือนแรกปี 2566 ลงทุนไทย 217 ราย ขนเงินเข้าประเทศ 3.8 หมื่นล้านบาท จ้างงาน 2,419 ราย ญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุนไทยมากที่สุด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล โดยให้สิทธิประโยชน์จูงใจกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ประกอบกับความพร้อมเรื่องวัตถุดิบที่มีอย่างเพียงพอ และมีอุตสาหกรรมสนับสนุนพร้อม ทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทยและยังเป็นเป้าหมายการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งจากข้อมูลในช่วง 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 217 ราย เพิ่มขึ้น 11% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 69 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 148 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 38,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จ้างงานคนไทย 2,419 คน เพิ่มขึ้น 6% 
 

 

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 55 ราย สัดส่วน 25% เงินลงทุน 14,024 ล้านบาท สิงคโปร์ 35 ราย สัดส่วน 16% เงินลงทุน 4,854 ล้านบาท สหรัฐฯ 34 ราย สัดส่วน 15% เงินลงทุน 1,725 ล้านบาท จีน 14 ราย สัดส่วน 6% เงินลงทุน 11,230 ล้านบาท สมาพันธรัฐสวิส 11 ราย สัดส่วน 5% เงินลงทุน 1,692 ล้านบาท และ อื่น ๆ 68 ราย สัดส่วน 33% เงินลงทุน 5,177 ล้านบาท

 

สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ในช่วง 4 เดือน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 4 เดือน มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 43 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 7,521 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 17 ราย ลงทุน 2,816 ล้านบาท จีน 8 ราย ลงทุน 725 ล้านบาท ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 15 ราย ลงทุน 1,058 ล้านบาท

 

“แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แต่นักลงทุนยังมีแผนขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนมีความเห็นว่าประเทศไทยมีปัจจัยเอื้ออำนวยหลายด้าน ทั้งวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เพียงพอ มีบริการด้านการสื่อสาร ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด มาตรการสนับสนุนกิจการ แรงงานที่มีคุณภาพ"