posttoday

ตั้งรัฐบาล66 : “ปตท.” ฝากรัฐบาล ราคาพลังงานต้องบริหารจัดการต้นทุนเหมาะสม

22 พฤษภาคม 2566

เหตุประเทศไทยเป็นผู้นำเข้า ต้องอิงราคาตลาดโลก หากลดลงกว่านี้ต้องใช้มาตรการนโยบายด้านภาษีหนุน จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม พร้อมเปิดแผนนำเข้า LNG 100 ลำ ปีนี้ รับเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้น

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ อยากฝากให้ดูเรื่องราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้าและน้ำมัน เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนเป็นหลัก โดยราคาน้ำมันจะอิงตลาดโลก หากจะให้ลดลงมากกว่านี้ จำเป็นต้องใช้มาตรการนโยบายด้านภาษีช่วย

ดังนั้นการดูแลราคาน้ำมันต้องดูทุกฝ่าย ทั้งผู้มีส่วนได้ และส่วนเสียให้เหมาะสม ทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิต เพื่อให้ทุกคนต้องอยู่ได้ ที่สำคัญคือ ต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องของต้นทุนที่ดี เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้า ราคาเท่ากันทั่วโลก จึงทำให้คุมราคายาก

สำหรับในปีนี้ ปตท.ได้ประเมินว่า อาจมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เกือบ 100 ลำ หรือ ประมาณ 6 ล้านตัน จากปัจจุบันที่นำเข้ามาแล้ว 60 ลำ อยู่ที่ 4 ล้านตัน หรือ ลำละ 60,000 ตัน ขณะที่ปี 2565 มีการนำเข้าอยู่ที่ 53 ลำ หรือ ราว 3.3 ล้านตัน โดยการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ปริมาณนักท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ประกอบกับทิศทางราคา Spot LNG ในตลาดจรถูกลง ทำให้คุ้มค่ากว่าการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ราคา LNG ตลาดจรเดือน มิ.ย.นี้ อยู่ที่ประมาณ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากปีที่ผ่านมา บางช่วงราคาสูงสุดอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และคาดว่าจนถึงปลายปีนี้ ราคาอาจจะอยู่ที่ราว 15-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยราคาที่ปตท.ทำสัญญาซื้อขายไปแล้วนั้นจะไม่เกิน 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ทั้งนี้ ราคาที่ต่ำลงเกิดจากกลุ่มสภาพยุโรป (อียู) มีการสำรอง LNGไว้ในปริมาณสูงเกินความต้องการของตลาด ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร(Ft) ในงวดถัดไปลดลงได้

นายพงษ์พันธุ์  กล่าวว่า ปตท.จะนำเข้า LNG ในปีนี้ถึง 100 ลำตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ยังต้องติดตามดูว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นไปตามแผนหรือไม่ รวมถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและราคา LNG ในอนาคตด้วย ซึ่งการนำเข้า LNG แต่ละล็อตจะต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ด้วย

สำหรับการขยายเครือข่ายทางการค้าให้ครอบคลุมทั่วโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด และนำรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์โลกพลังงานที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ มีสำนักงานการค้าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยคาดว่า ปีนี้จะมีการปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น จากปี 2565 ที่มีปริมาณการค้ารวมมากกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ

นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ การเข้าสู่ตลาด Carbon Credit Trading และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ตามที่กำหนดไว้

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ประกอบด้วย ธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและสายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย รวมถึง ธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ซึ่งมีผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2566 คิดเป็น 31% ของกำไรสุทธิของ ปตท. หรือ 8,748 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธกิจหลัก และก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond พร้อมเติบโตในธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 บวกกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ร่วมลดผลกระทบแก่ประชาชน และบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย การจัดหา LNG แบบตลาดจร ในช่วงเวลาเร่งด่วน พร้อมจัดหาและสำรองน้ำมันดิบในภาวะการขาดแคลนทั่วโลก รวมถึงการบริหารต้นทุนพลังงาน ปรับการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 30%ในปี 2573 จากปี 2565 อยู่ที่ 15% โดยปัจจุบันมีการเจรจาความร่วมมือกับพันธมิตรในหลายธุรกิจ เช่น ความมั่นคงของระบบน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ก็ได้ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ทั้งเรื่องการรีไซเคิลน้ำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมถึงการผันน้ำ การลงทุนระบบท่อน้ำ เพราะกลุ่มปตท. มีความต้องการใช้น้ำมัน สัดส่วน 30% ของอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก

“เรามีการนำเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงาน ผันผวน เป็นต้น”