posttoday

ต้นทุน-ดอกเบี้ย ฉุดความชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงครั้งแรก ในรอบ 4 เดือน

16 พฤษภาคม 2566

ส.อ.ท. เผยดัชนีความื่อมั่น เดือนม.ย.66 ดิ่งครั้งแรก ในรอบ 4 เดือน หลังความต้องการชะลอตัว ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ผู้ประกอบการกังวลต้นทุนค่าไฟ-ราคาน้ำมันพุ่ง-ดอกเบี้ยขยับแรง วอนรัฐจัดงบอุ้มค่าไฟ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.8 ในเดือนมีนาคม(สูงสุดในรอบ 10 ปี) ถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกใน 4 เดือน โดยปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น


"สาเหตุที่ทำให้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง มาจากการชะลอตัวของภาคการผลิต เนื่องจากวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อ และยอดขายต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น"

ต้นทุน-ดอกเบี้ย ฉุดความชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วงครั้งแรก ในรอบ 4 เดือน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.0 ปรับตัวลดลง จาก 106.3 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลลบต่อภาคการส่งออกของไทย ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย -ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ เร่งส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) และ1.อเมริกาใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า อาทิ จัดสรรงบประมาณเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบและลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม