posttoday

TDRI แนะจับตา โอเปกพลัส หวั่นลากศก.โลกถดถอย

04 เมษายน 2566

TDRI ชี้หากโอเปกพลัส ลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบนาน ดันราคาน้ำมันโลกทะยาน หนุนราคาสินค้าโลกพุ่งสูง เสี่ยงทำให้เศรษฐกิจยุโรป-สหรัฐเกิดภาวะถดถอย ฉุดส่งออกไทยอ่วมเพิ่ม ด้านสภาหอการค้าฯ เชื่อเป็นสถานการณ์ระยะสั้น กระทบไม่มาก แต่ต้องจับตาต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรม

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร   นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงกรณี กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส ประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มอีกราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดันราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูง จากความกังวลอุปทานตึงตัว ว่า ตามปกติการรวมตัวกันเพื่อลดกำลังการผลิตมักจะเกิดขึ้นได้ไม่ค่อยนาน เพราะเมื่อลดกำลังการผลิตจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้บางประเทศในกลุ่มที่รวมตัวกันจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อขายในราคาที่สูงขึ้น รอบนี้เป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการที่จีนเข้าไปช่วยประสานระหว่างซาอุกับอิหร่าน จึงทำให้มีโอกาสที่จะทำให้เกิดพันธมิตรที่แนบแน่นมากยิ่งขึ้นได้

 

ฉากทัศน์จึงมีทั้งกรณีที่รวมตัวกันได้ไม่นาน และส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้นแบบกรณีทั่วๆไป และฉากทัศน์ที่ความร่วมมือเกิดขึ้นแบบยาวนาน ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (เช่น ราคาสูงมากกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล) และยาวนาน ซึ่งกรณีหลังจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะจะทำให้โลกเกิดปัญหาเงินเฟ้อจากทางด้านต้นทุนการผลิต (ราคาน้ำมันดันราคาสินค้าโลก) และสุ่มเสี่ยงทำให้ยุโรปและสหรัฐฯเกิดเศรษฐกิจถดถอย
 

 


“ในปัจจุบันส่วนตัวยังคงมองว่า มีโอกาสเป็นแบบแรกมากกว่า แต่ก็ต้องจับตาดูครับผลกระทบต่อไทย คือ ผ่านราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ถ้ากรณีแรกก็จะผลกระทบไม่มากนัก กรณีหลังจะมีผลของราคาน้ำมัน ร่วมกับผลของเศรษฐกิจหลักๆของโลกถดถอย ทำให้ภาคส่งออกแย่ลงเพิ่มอีกด้วย”

 

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ ทางกลุ่ม OPEC+ ต้องการรักษาระดับราคาน้ำมันให้ balance ระหว่าง อุปสงค์และ อุปทาน ตอนนี้เป็นช่วงที่ อุปสงค์ ต่ำลง เพราะเป็น ฤดู spring เป็นช่วงที่ใช้น้ำมันน้อยอยู่แล้ว ทำให้ในกลุ่มที่ต้องการรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ต่ำลงไป มีการลดกำลังผลิตลง 

 

“หลังจากประกาศมีราคาน้ำมันปรับตัวเด้งขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่า เป็นระยะสั้นเดี๋ยวก็จะปรับตัวอยู่ในกรอบ 80 -85 เหรียญต่อบาร์เรล ช่วงนี้ เชื่อว่าตอนนี้ไม่กระทบมาก ไม่ต้องตื่นตระหนกมากแต่ควรจะตระหนักว่า มีประเด็นนี้เป็นปัจจัยของต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ”

 

ล่าสุดเช้าวันนี้( 4 มี.ค.66) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ ราคาพุ่งขึ้นทันทีเกือบ 6% ในช่วงเปิดตลาดของเอเชีย โดยน้ำมันดิบ เบรนท์ ปรับขึ้น 5.58% หรือ 4.46 เหรียญสหรัฐ อยู่ที่ 84.40 เหรียญต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับขึ้น 5.72% หรือ 4.33 ดอลลาร์ อยู่ที่ 80.00 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล