posttoday

ผ่าธุรกิจ SCN กว่าจะยืนหนึ่งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ-พลังงานทดแทน

03 เมษายน 2566

กับเส้นทางที่ต้องเผชิญ บนความท้าทายในธุรกิจพลังงานที่ทายาทรุ่นที่ 2 “ฤทธี กิจพิพิธ” ต้องปรับเปลี่ยนองค์กรจากการบริหารงานแบบ “กงสี” สู่ “บริษัทมหาชน” และก้าวต่อไปในการนำบริษัทลูก “SAP” เข้าตลาดฯ เพื่อลุยธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์เต็มสูบ

ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN กล่าวว่า ในธุรกิจกงสี มักถูกพูดถึงเสมอว่า รุ่นที่ 1 ทำมาดีแล้ว รุ่นที่ 2 ไม่ต้องทำอะไร และเมื่อถึงรุ่นที่ 3 ธุรกิจเจ๊ง ซึ่งหาก สแกน อินเตอร์ ไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อประมาณ 8 ปีทีแล้ว ธุรกิจของ สแกน อินเตอร์ ก็คงไม่ต่างจากธุรกิจกงสีทั่วไป เพราะก่อนหน้านั้น คุณพ่อ คือ ผู้ที่บริหารจัดการและสั่งงานทั้งหมดอยู่เพียงคนเดียว เป็นการบริหารงานแบบเถ้าแก่ ที่ทุกคนต้องรอฟังคำสั่งจาก คุณพ่อ เพียงคนเดียว

ผ่าธุรกิจ SCN กว่าจะยืนหนึ่งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ-พลังงานทดแทน

ยืนหนึ่งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2530 ธุรกิจของ สแกน อินเตอร์ เริ่มจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างปั๊มน้ำมัน เริ่มจากการเก็บประสบการณ์จากการทำงานในบริษัทอื่น จนสามารถเปิดบริษัทของตนเองและกลายเป็นที่ไว้วางใจของ ปตท. ทำให้ได้ก่อสร้างปั๊มน้ำมันจนมีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด ต่อมาในยุค 90 ก๊าซ NGV เริ่มเข้ามาในประเทศไทย บริษัทก็ถูกคัดเลือกให้เป็นผู้บุกเบิกปั๊ม NGV ในประเทศไทย จากปั๊มน้ำมันก็มาสู่ธุรกิจ NGV 

วิสัยทัศน์ของ คุณพ่อ คาดการณ์ไว้ว่า NGV จะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยอย่างน้อย 20 ปี คุณพ่อจึงตัดสินใจนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับ NGV เพื่อประกอบธุรกิจด้านนี้ ซึ่งต้องบอกว่าในยุคนั้นที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต เป็นความยากลำบากมากในการหาแหล่งผู้ผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเพราะปั๊มน้ำมันกับปั๊มแก๊สต่างกัน NGV ต้องมีปั๊มเล็กๆอยู่ใต้ดินเพื่อควบคุมแรงดัน

จนในที่สุดก็ได้อุปกรณ์จากบริษัทในประเทศนิวซีแลนด์ จากการประสานงานกับสถานทูตในประเทศต่างๆเพื่อหาข้อมูล โดยเริ่มจากการนำชิ้นส่วนอุปกรณ์มาประกอบในไทย จนสามารถผลิตเองได้ มีโรงงานของตนเอง ทำให้ต้นทุนต่ำ และสร้างข้อได้เปรียบในการเข้าประมูลโครงการต่างๆ และกลายเป็นผู้นำในตลาดนี้ในที่สุด นอกจากสร้างปั๊มแล้วยังเป็นเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากปตท.ในการเป็นสถานีอัดแก๊สจากสถานีแม่ไปส่งยังสถานีลูก 

ผ่าธุรกิจ SCN กว่าจะยืนหนึ่งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ-พลังงานทดแทน

5 ปี เปลี่ยน กงสี สู่ บริษัทมหาชน
การเติบโตดังกล่าว ส่งผลให้งบการเงินบริษัทดี ทำให้บริษัทถูกเชื้อเชิญจากธนาคารกสิกรไทยให้เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าในตอนนั้น สมาชิกในครอบครัวมีบ้างที่ไม่เข้าใจและมองว่าเป็นการขายหุ้นและจะสูญเสียการควบคุม

แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่ได้มาคือ ความเป็นระบบของบริษัท เพราะก่อนหน้านี้ คุณพ่อ คือผู้บริหารที่สั่งงานคนเดียวตั้งแต่ระดับบนไปจนถึงรปภ.ทุกคนต้องนั่งรอคำสั่งจาก คุณพ่อ เพียงคนเดียว พนักงานมีจำนวนกว่า 1,000 คน แต่ทำงานจริงๆ ไม่กี่คน มีระบบการรับฝากจากคนรู้จักหลายตำแหน่ง บริษัทไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพราะคิดว่าเป็นแผนกที่มีความรู้แค่เรื่องกฎหมายไว้ต่อสู่กับพนักงานเพียงอย่างเดียวพอ ดังนั้นวิศวกรคนไหนที่ผลงานไม่เข้าตา ก็จะถูกโยกมาอยู่แผนกนี้

และเนื่องจาก คุณพ่อ เป็นวิศวกร จึงให้ความสำคัญกับการผลิตผลงาน จนไม่ได้ดูเรื่องการเงิน และทำให้เป็นจุดรั่วอีกจุดที่สำคัญ

ผ่าธุรกิจ SCN กว่าจะยืนหนึ่งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ-พลังงานทดแทน

ฤทธี เล่าว่า วันแรกที่ตัวเองเข้ามาเป็นซีอีโอแทนคุณพ่อ เขาปรับโครงสร้างและตำแหน่งงานใหม่หมด จนทำให้พนักงานต้องลาออกเองเกือบ 400 คน มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ไม่ยอมและต้องจ่ายเงินชดเชย ขณะที่ ตัวคุณพ่อเอง เป็นจังหวะที่ท่านป่วย จึงให้ดูแลในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร มีหน้าที่ประชุมแค่เดือนละครั้งถึงสองครั้งเท่านั้น 

ผมใช้เวลาในการปรับนานถึง 5 ปี เพื่อแก้ระบบเถ้าแก่แบบโบราณที่คนมองว่าจะเจ๊งในรุ่นที่ 3 ซึ่งตอนนี้ไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว

เขาเล่าต่ออีกว่า เขาคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นซีอีโอที่นำพาบริษัทเข้าตลาดฯอายุน้อยที่สุด คือ 32 ปี เนื่องจากคุณพ่อต้องการให้ตัวเองเป็นซีอีโอให้เร็วที่สุด ทำอย่างไรถึงจะเรียนรู้ได้เร็ว เพราะหลักการของการเป็นซีอีโอ ไม่ใช่รู้แค่ธุรกิจ แต่ต้องรู้เรื่องการเงินด้วย ต้องรู้เรื่อง M&A ซึ่งตนเองนั้นเรียนวิศวะเครื่องกลมาตั้งแต่เด็ก จากนั้นก็ต่อระดับปริญญาโทและเอกด้านพลังงาน ไม่มีความรู้เรื่องการเงินเลย จึงต้องใช้เวลา 2-3 ปี ในการเรียนรู้ผ่านการอ่านข่าว การพบปะผู้ใหญ่ในวงการจนกระทั่งเข้าใจและสามารถต่อจิ๊กซอทางธุรกิจได้ เปรียบเหมือนการหัดปั่นจักรยานเมื่อเข้าใจแล้วก็เป็นเลย 

ขยายสู่ธุรกิจข้างเคียงตั้งตัวเป็นโฮลดิ้ง
ปัจจุบันธุรกิจของ สแกน อินเตอร์ นอกจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่เป็นธุรกิจหลักแล้ว ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติด้วย คือ ธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ อะไหล่ และซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศ NGV ,ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจขนส่งและอื่นๆ โดยสแกน อินเตอร์จะมีลักษณะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี และแยกบริษัทลูกออกมาในแต่ละธุรกิจ โดยสแกน อินเตอร์จะเข้าไปถือหุ้นร่วมกับพันธมิตรต่างๆเพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกัน

สำหรับผลประกอบการปี 2565 บริษัทสามารถทำกำไรเติบโตได้สุทธิ นิวไฮ 346 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 4 เท่า เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับวิกฤตการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก โดยมีรายได้จากการขายและบริการ ใน Q4/2022 อยู่ที่ 386 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% ซึ่งทำให้ปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 569 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 81%

ปัจจัยสำคัญมาจากเราได้ขยาย และปรับเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจ เน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาตามแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน

นอกจากรายได้จากการขายและบริการแล้วที่ผลักดันให้บริษัทฯเติบโตแล้ว ยังมีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโต โดยมีรายได้อยู่ที่ 867 ล้านบาท ในส่วนธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ อะไหล่ และซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศ มีรายได้อยู่ที่ 162 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 73 ล้านบาท นอกจากนี้สำหรับธุรกิจขนส่งและอื่นๆ มีรายได้อยู่ที่ 297 ล้านบาท

ทั้งนี้ในส่วนของรายได้อื่นๆ ของปี 2565 นั้นอยู่ที่ 111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทในเครือกู้ยืม และรายได้อื่นๆ ใน Q4/2022 เท่ากับ 41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63% อันเนื่องมาจากมีการรับรับรู้มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ทางการเงิน สำหรับสิทธิในการขายหุ้นคืน (Options) รวมถึงการได้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม อยู่ที่ 49 ล้านบาท

เตรียมนำ SAP เข้าตลาดฯ
ฤทธี กล่าวถึงความสำเร็จในปี 2565 ที่ผ่านมาว่า บริษัท ได้จับมือกับ 2 บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ จากประเทศญี่ปุ่น ตอกย้ำความแข็งแกร่งธุรกิจ iCNG และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานก๊าซธรรมชาติของบริษัทซึ่งเป็นการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีผลงานจากโครงการซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้นอีก 6 โครงการ รวมมีกำลังการผลิตในมือ 24 เมกะวัตต์ และโกยกำไรจากอัตราค่าไฟฟ้า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น 6,621.6 %

ผ่าธุรกิจ SCN กว่าจะยืนหนึ่งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ-พลังงานทดแทน

อีกทั้งบริษัทในเครือคือ บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโครงการ Private PPA ทั้งหมด ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้มีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์สำหรับโครงการที่ไม่มีการดำเนินการต่อออกทั้งหมด

ล่าสุด SAP ได้ลงนามเซ็นต์สัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชนกับบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (โอ้กะจู๋) ตอกย้ำวิสัยทัศน์ความมุ่งมั่นส่งต่ออนาคตพลังงานไทยที่ยั่งยืน โดยสแกน อินเตอร์ จะเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญกับผู้ประกอบการชาวเชียงใหม่ และภาคเหนือ ในการช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ทั้งสะอาดขึ้นผ่านนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนของบริษัท อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Energy ซึ่งบริษัทจะมุ่งเน้นการเติบโตด้วยพลังงานสะอาด อย่างปลอดภัย และอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าไปได้ในแบบระยะยาว

ฤทธี  กล่าวว่า ปัจจุบัน ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา อีกทั้งยังต้องเผชิญกับสภาพมลพิษทางอากาศ วิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพที่กำลังเจอกับปัญหานี้ ทางภาคเหนือของประเทศไทยก็ตกอยู่สถานการณ์เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากต้องใช้ไฟฟ้าอันแสนแพงแล้ว ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้กับสภาพมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า ซึ่งจากปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมข้างต้น ทำให้บริษัทเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนพลังงานสะอาดให้เป็นที่ยอมรับในทุกภาคส่วน

ในปี 2566 บริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 เมกะวัตต์ เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในระยะยาว จึงต่างมองหาทางเลือกแหล่งพลังงานใหม่ ทำให้ความต้องการติดตั้ง Solar Rooftop ขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อภาครัฐเริ่มเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น จึงทำให้ในปีนี้ บริษัทเริ่มขยายตลาดไปยังทางภาคเหนือ พร้อมตั้งเป้าภายในปีนี้จะมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 110 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรระดับคุณภาพ และเลือกใช้อุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล เพื่อตอบสนองการให้บริการลูกค้าอย่างมืออาชีพ และมีประสิทธิภาพตามความคาดหวังลูกค้า

ธุรกิจเดิมยังแข็งแกร่ง
สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) บริษัทคว้างาน EPC เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยชนะประมูลงานก่อสร้างปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ จากบริษัท ปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับก๊าซ (Non-Gas) และบริษัทฯ เล็งเห็นถึงการเติบโตของการงาน EPC กลุ่ม Non-Gas นี้ในอนาคตเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำด้านซ่อมบำรุงสถานีก๊าซธรรมชาติ (NGV) ทั่วประเทศ ซึ่งบริษัทได้รับชัยชนะในการยื่นซองประมูลงาน และขยายพื้นที่ซ่อมบำรุงสถานี (NGV) จำนวน 183 สถานี ทั่วประเทศในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงเขตภูมิภาค คิดเป็น 75% ของสัญญาซ่อมบำรุงสถานี (NGV) ทั้งหมด โดยมีระยะเวลาสัญญาทั้งหมด 2 ปี รวมมูลค่าสัญญากว่า 240 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้เริ่มดำเนินงาน และรับรู้รายได้จากสัญญาใหม่นี้ตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 เป็นต้นไป 

ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่
สุดท้าย ฤทธี ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่กับนโยบายการสนับสนุนใช้รถ EV ว่า ขอให้รัฐบาลดูในภาพรวมว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพลังงานเหมือนต่างประเทศหรือไม่ ค่าไฟประเทศไทยถูกกว่าน้ำมันจริงหรือไม่ ขณะที่นโยบายต่างประเทศทำได้ เพราะราคาน้ำมันในประเทศเขาสูงกว่าค่าไฟฟ้า

ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่านโยบายการส่งเสริมให้คนใช้รถ EV คนที่ได้ประโยชน์คือ ค่ายรถหรู ราคาแพง ซึ่งหากมีรถ EV นำเข้ามาในประเทศไทยจะถูกยกเว้นภาษี ราคาจะถูกกว่ามาก แทนที่รัฐบาลจะได้ภาษีจากรถหรูในราคาแพง กลับต้องเสียรายได้ตรงนี้ไป

ในขณะที่คนไทยผู้ใช้รถ EV กลับได้รถ EV มาตรฐานจีนในราคาที่ซื้อรถน้ำมันแบรนด์ญี่ปุ่น หรือ ยุโรป ได้ นอกจากราคาจะแพงกว่าแล้ว หากคำนวณค่าไฟกลับพบว่าราคาแพงกว่าการเติมน้ำมัน ไปต่างจังหวัดก็หาสถานีชาร์จไฟยาก แบตเตอรี่เสี่ยงต่อการเสื่อมคล้ายกับแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ อีกทั้งประกันรถยนต์ก็ยังราคาสูงอยู่มาก ที่สำคัญการใช้ไฟฟ้าเท่ากับการทำลายโลกเพราะการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังเน้นการเผาถ่านหิน

ในฐานะที่ผมเรียนจบด้านพลังงานมา ยอมรับว่านโยบายสนับสนุนใช้รถ EV ทำให้ผมเครียดมาก อยากให้รัฐบาล คิด วิเคราะห์ แยกแยะให้ดีกว่านี้