posttoday

ก้าวต่อไป “ไทยรุ่ง” กับโอกาสตลาดรถ EV และธุรกิจที่ไม่หยุดอยู่แค่ “ทายาท”

26 มีนาคม 2566

ชูจุดแข็ง ศักยภาพผู้ผลิตและประกอบรถยนต์มากว่า 56 ปี ลั่นธุรกิจไม่ได้หยุดที่ ทายาท ประกาศอ้าแขนรับคนรุ่นใหม่ ควบคู่การจับมือพันธมิตร เพื่อสร้างนวัตกรรมยานยนต์ที่แตกต่าง

จากแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของประเทศ ที่ต้องการให้ภายในปี 2573 มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยผลิตประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน ,รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบราง ผ่านการสนับสนุนทั้งด้านมาตรการทางภาษี และมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แนวทางดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งกลไกในการพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต นั้น

กลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญของผู้ผลิตชิ้นส่วนและจัดจำหน่ายรถยนต์อเนกประสงค์สัญชาติไทย อย่าง บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRU ที่จะเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในอุตสาหกรรมรถ EV ในทุกกระบวนการผลิต ซึ่งปัจจุบัน ไทยรุ่ง เป็นผู้รับจ้างประกอบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ให้กับพันธมิตร แอปพลิเคชันเรียกรถ Muvmi และรถมินิบัสไฟฟ้าที่กำลังเตรียมออกสู่ตลาดเร็วๆนี้

โอกาสสำคัญตลาดรถ EV

สมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า สัดส่วนในการผลิตรถ EV แม้จะยังน้อยอยู่ แต่มั่นใจว่า ในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า นักลงทุนและผู้ถือหุ้นจะสามารถเห็นแนวทางธุรกิจรถ EV ของบริษัทได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นแน่นอน นอกจากปัจจุบันเป็นผู้ประกอบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแล้ว บริษัทกำลังมีการเปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้าอยู่สู่ท้องตลาดเร็วๆนี้ ซึ่งได้รับการพัฒนามาเป็นเวลากว่า 4 ปี ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นมินิบัสไฟฟ้า ส่งเสริมการลด PM2.5 นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าขนาด 1.5 ตัน ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาส 3/2566 จะสามารถเริ่มทำการซื้อขายได้ 

ก้าวต่อไป “ไทยรุ่ง” กับโอกาสตลาดรถ EV และธุรกิจที่ไม่หยุดอยู่แค่ “ทายาท”

การผลิตรถไฟฟ้าในอนาคตไม่ใช่แค่รถเก๋งเพียงอย่างเดียว เราต้องพัฒนาในหลายมิติ ความโชคดีของเราคือขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนต่างๆ รวมไปถึงการประกอบรถยนต์


สมพงษ์ กล่าวว่า ตอนนี้รถไฟฟ้าในจีนเกิดภาวะสิ้นค้าล้นตลาด ทำให้เขาต้องนำสินค้าออกนอกประเทศ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ ไทยรุ่ง จะใช้ขีความสามารถทั้งในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิตชิ้นส่วน ไปจนถึงกระบวนการประกอบรถไฟฟ้า เพื่อเป็นฐานการผลิตในประเทศไทยให้กับต่างชาติ ในการลดต้นทุนและสามารถแข่งขันในตลาดด้วยราคาที่เหมาะสม

เพราะนอกจากจีนแล้ว ประเทศแถบยุโรปก็มีการผลิตรถไฟฟ้าเช่นกัน ดังนั้นหากเขาเลือก ไทยรุ่ง เป็นฐานการผลิต จะคุ้มค่ากว่าในการลงทุนเอง ซึ่งในช่วงแรกการผลิตอาจยังไม่มากและไม่คุ้มค่าที่ต้องลงทุนสร้างโรงงานเอง ไทยรุ่ง มีโรงงานที่พร้อมในการรับงานทั้งที่กรุงเทพและระยอง ซึ่งไม่ใช่เพียงรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับรถยนต์ธรรมดาด้วย

ไทยรุ่งมองว่า ตลาดรถไฟฟ้ายังมีโอกาสโตอีกมาก นอกจากแบรนด์จีน ยังมีแบรนด์ยุโรป ซึ่งในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้านี้จะทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆในตลาดเพิ่มขึ้น ไม่เหมือนภาพของตลาดรถยนต์แบบสมัยก่อนที่มักถูกควบคุมซัพพลายเชนโดยเจ้าของแบรนด์รถยนต์เท่านั้น 

เลือกเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์

สมพงษ์ กล่าวว่า จุดแข็งของบริษัทคือประสบการณ์ในวงการที่ยาวนานบวกกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุน รวมถึงการผลิต ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่เจ้าของแบรนด์ไม่ทำ เช่น การผลิตรถยนต์กันกระสุน “ทรานส์ฟอร์เมอร์” 

ก้าวต่อไป “ไทยรุ่ง” กับโอกาสตลาดรถ EV และธุรกิจที่ไม่หยุดอยู่แค่ “ทายาท”

การเลือกเทคโนโลยี ไม่ใช่การเลือกที่ความทันสมัย หรือ เป็นระบบอัตโนมัติ เพียงอย่างเดียว หัวใจสำคัญคือ เลือกอย่างไรให้เหมาะสม เลือกแล้วทำให้แข่งขันในตลาดได้ เหมาะสมกับการผลิตของบริษัท เช่น เมื่อจำนวนความต้องการน้อย อย่างการผลิตรถยนต์กันกระสุน ทรานส์ฟอร์เมอร์ ไทยรุ่ง กล้าพูดว่า ผู้ผลิตรายใหญ่ทำไม่ได้แน่นอน ไทยรุ่ง สามารถลงทุนโดยใช้แม่พิมพ์ไม่มาก เห็นได้จากโครงสร้างของประตูรถยนต์ทรานส์ฟอร์เมอร์ ทั้ง 4 ประตู เป็นโครงสร้างที่ไม่เหมือนกันเลย แต่มาจากแม่พิมพ์เดียวกัน

หากเป็นการผลิตทั่วไปต้องใช้แม่พิมพ์ถึง 4 แม่พิมพ์ แต่ ไทยรุ่ง ใช้แม่พิมพ์เดียว โดยยึดหลักการออกแบบแม่พิมพ์ให้ต่อกันได้แบบเลโก้ ทำให้สามารถขึ้นรูปประตูได้จากแม่พิมพ์เดียวกัน แต่หากมีจำนวนการผลิตเพิ่มขึ้น ไทยรุ่ง ก็สามารถสร้างแม่พิมพ์เพิ่มได้ นอกจากนี้ยังมีการนำหุ่นยนต์เลเซอร์มาตัดโลหะ 7-8 เครื่อง ในการทำห้องโดยสารรถขุด ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมจะทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นสูงในการควบคุมการผลิต ปรับเปลี่ยนไปตามปริมาณความต้องการมากหรือน้อยได้อย่างเหมาะสม

ก้าวต่อไป “ไทยรุ่ง” กับโอกาสตลาดรถ EV และธุรกิจที่ไม่หยุดอยู่แค่ “ทายาท”

ชูจุดแข็งอยู่ในตลาดกว่า 56 ปี

สมพงษ์ กล่าวว่า จุดแข็งอีกประการที่สำคัญคือ การอยู่ในวงการมานานกว่า 56 ปี ซึ่งคุณพ่อวิเชียรเริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2510 จากเดิมที่เริมเป็นเพียงผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งไม่ได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท ในทุกปีจึงมีความท้าทายเรื่องของราคาอยู่ตลอด ทำให้เมื่อ 30-40 ปีก่อน บริษัทต้องพัฒนารถประเภทต่างๆที่ตลาดรู้จักก็คือ รถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง 11 ที่นั่ง ในราคาไม่แพง ซึ่งในสมัยนั้นเจ้าของแบรนด์ไม่ทำ ทำให้บริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อนตลาดเติบโตทำให้เจ้าของแบรนด์หันมาผลิตเอง ไทยรุ่ง ก็ไม่หยุดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งล่าสุดคือรถยนต์กันกระสุน ทรานส์ฟอเมอร์ ที่มีตลาดภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เป็นลูกค้าประจำ 

ต้องยอมรับความจริงว่าเมื่อตลาดโตขึ้นผู้เล่นจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะเจ้าของแบรนด์เองที่มีความพร้อมและเป็นเจ้าของเครื่องยนต์ ดังนั้นบริษัทต้องหาตลาดที่เขาไม่ได้ทำ เพราะเจ้าของผลิตภัณฑ์คิดว่าเล็กเกินไปที่จะลงทุนแต่ ไทยรุ่ง จะไม่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับลูกค้า แต่ต้องทำงานเสริมกัน ต้อง วิน วิน ทั้งคู่ การเป็นบริษัทคนไทย ทำให้รู้ความต้องการของคนไทย โดยเข้าไปเจาะกลุ่มตลาดนั้นๆ ด้วยราคาไม่แพง

และจากการรับจ้างผลิตทำให้มีความสามารถครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบการทำแม่พิมพ์ การทำชิ้นส่วน การประกอบตัวถังรถ มาอย่างยาวนาน ทำให้ต้นทุนไม่สูง สามารถผลิตได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักยังมาจากงานแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์ 52% รองลงมาคือ งานรับจ้างประกอบและทำสี 42% และ สัดส่วนรายได้จากการผลิตรถพิเศษเฉพาะทางต่างๆ และ การบริการหลังการขาย 6% โดยในไตรมาส4/2565 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,884 ล้านบาท โตขึ้นกว่าปีก่อน 46% และมีกำไรสุทธิ 394 ล้านบาท โตขึ้นกว่าปีก่อนถึง 405% 

ณ ตอนนี้บริษัทเริ่มมีการสั่งซื้อและส่งออกสินค้าไปยังประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งในอนาคตมีแผนจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม โดยตั้งเป้ารายได้การเติบโตของบริษัทฯ ในปี 2566 ไว้ที่ 10% ซึ่งในปี 2566 นี้ ด้านการเติบโตของรายได้อาจไม่ได้หวือหวามากนัก เนื่องจากเป็นช่วงของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจ บริษัทฯ มีแผนการที่จะลงทุนเครื่องจักร กระบวนการผลิต และปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเพื่อรองรับงานรับจ้างประกอบรถยนต์ที่ตลาดกำลังขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ธุรกิจการรับจ้างผลิตมีความสำคัญกับ ไทยรุ่ง มาก เพราะทำให้บริษัทมี Economies of Scale เมื่อมีความต้องการผลิตที่มากขึ้น หากบริษัทต้องผลิตสินค้าของตัวเอง ก็สามารถนำเครื่องจักรที่ใช้รับจ้างผลิตมาต่อยอดได้ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของบริษัทถูกลง เมื่อเทียบกับการลงทุนเครื่องจักรสำหรับการผลิตของตนเองโดยเฉพาะ

ดังนั้น ไทยรุ่ง จึงต้องพยายามรักษางานการผลิตแม่พิมพ์ไว้ ควบคู่กับการเพิ่มผลิตภัณฑ์ของตนเองไปกับพันธมิตรด้วย

ธุรกิจต้องไม่หยุดที่ “ทายาท”
แม้ว่าธุรกิจของ ไทยรุ่ง เป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 2 คือ สมพงษ์ และ กำลังก้าวสู่ ทายาท รุ่นที่ 3 ในรุ่นลูก แต่ สมพงษ์ ก็ยืนยันว่า ไทยรุ่ง เป็นบริษัทมหาชนแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อในเรื่องของความเป็นมืออาชีพ การบริหารงานจึงควรจะเป็นใครก็ได้ ที่มีความสามารถในการพัฒนาตัวเอง และพร้อมเรียนรู้ในการแข่งขันให้ได้ เพราะฉะนั้นจึงเน้นส่งเสริมคนทุกคนในองค์กร ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในครอบครัวเพียงอย่างเดียว

นี่คือจุดยืนที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าเป็นทายาทแล้วจะต้องขึ้นเบอร์ 2 เบอร์ 3 คนที่อยู่ในองค์กรต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา ต้องมีความเป็นมืออาชีพ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ คิดและหาโอกาสทางธุรกิจ

ทว่า สมพงษ์ ก็ยอมรับว่า โชคดีที่ลูกทั้ง 2 คน คือ พัฒนศรณ์ และ วงศ์วริศ สนใจและทำงานในธุรกิจ ไทยรุ่ง โดย พัฒนศรณ์ ดูแลด้านพัฒนาธุรกิจและการลงทุน ขณะที่ วงศ์วริศ ดูแลด้านวิศวกรรมการผลิต ขณะที่ลูกชายอีกคน คือ  กรวุฒิ เพิ่งเข้ามาร่วมงานในการดูแลด้านนโยบายต่างๆของบริษัท

ทั้งนี้ โจทย์ของคุณพ่อที่ต้องการให้ลูกๆโฟกัสคือ การหาพันธมิตร และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดเพียงแค่ตัวผลิตภัณฑ์รถยนต์เท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆให้สอดรับกับโลกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา 

ซีอีโอ ไม่จำกัดแค่คนในครอบครัว

พัฒนศรณ์ ลูกชายคนโต กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า การเป็นทายาท ไม่จำเป็นต้องถูกวางตัวเป็น ซีอีโอ ตัวเองและคุณวงศ์วริศ ไม่ยึดติด ใครที่เก่งกว่า ก็เข้ามาทำงานได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นทายาทเท่านั้น ไม่อยากให้คิดว่าธุรกิจครอบครัวต้องส่งไม้ต่อให้ทายาท ไม่เคยคิดว่าธุรกิจในครอบครัวคนอื่นไม่สามารถเข้ามาเป็นซีอีโอได้ ดังนั้นโจทย์หลักของบริษัทคือ การเปิดรับคนรุ่นใหม่ เข้ามาทำงาน เราจะทำยังไงให้คนอื่นเข้ามา เราไม่อยากให้คิดว่าธุรกิจต้องส่งไม้ต่อให้คนนี้แน่นอน 

ก้าวต่อไป “ไทยรุ่ง” กับโอกาสตลาดรถ EV และธุรกิจที่ไม่หยุดอยู่แค่ “ทายาท”

ความต้องการของกลุ่มบริษัทคือ ต้องการให้กลุ่มบริษัทที่อยู่มายาวนาน 50-60 ปี มีความเป็นมืออาชีพ ต้องการสร้างภาพลักษณ์ดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้จำกัดแค่คนในครอบครัวมาร่วมงานด้วย ซึ่งก็ยอมรับว่าหาวิธีดึงดูค่อนข้างยาก เพราะคนรุ่นใหม่ก็มีทางเลือก ดังนั้นการหาวิธีสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิด หรือ การเข้าไปสนับสนุนเงินทุนให้เขามีพื้นที่ในการแสดงความสามารถก็เป็นสิ่งจำเป็น

สำหรับหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบในบริษัทคือ พัฒนาธุรกิจและการลงทุน โดยธุรกิจของไทยรุ่ง ประกอบด้วย กลุ่ม โรงงาน ภายใต้ ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ , กลุ่มเทรดดิ้ง ในการเป็นดีลเลอร์ให้กับแบรนด์รถยนต์ 5 แบรนด์ คือ อีซูซุ ฟอร์ด นิสสัน เล็กซัส และ มาสด้า ปัจจุบันมีโชว์รูมอยู่ 8 ที่ , กลุ่มการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าทั่วไป เช่น การเช่าออฟฟิศ การเช่าโรงงาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มให้บริการรถเช่า ภายใต้ แบรนด์ Bizcar ส่วนใหญ่เป็นการเช่าแบบระยะยาวขณะนี้มีรถให้บริการอยู่ประมาณ 6,000 คัน และยังได้ขยายไปสู่แบรนด์ Eazy Car บริการเช่ารถป้ายแดง ทางเลือกใหม่ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทดแทนการซื้อรถที่ส่วนใหญ่มักเป็นการผ่อนผ่านไฟแนนซ์ เมื่อคำนวณค่าผ่อน ค่าบำรุงรักษา และค่าประกัน ไม่มีความต่างจากการใช้บริการเช่ารถที่ต้องจ่ายรายเดือนเหมือนกัน แต่บริการนี้จะคลอบคลุมทั้งค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน และหากรถเสียก็สามารถเปลี่ยนรถใหม่ได้

เมื่อการเช่ารถระยะยาวสิ้นสุดลง เมื่อก่อนใช้วิธีการนำรถเก่าไปประมูลเหมือนการขายในปริมาณมากๆ แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและทำให้พฤติกรรมการซื้อรถเปลี่ยนไป บริษัทก็เพิ่มช่องทางในการขายออนไลน์ไปถึงผู้บริโภคเองผ่านเพจ Jing Jai Used Car 

หลักการมองหาโอกาสการลงทุนในมุมมองของตัวเองนั้น ไม่ได้เน้นหวือหวา หลักการที่สำคัญ เน้นประหยัดใช้เงินให้คุ้มค่า ไม่ลงทุนเกินตัว นี่คือจุดสำคัญที่กลุ่มบริษัทมั่นคงและผ่านมาได้หลายวิกฤต

พัฒนศรณ์ เล่าว่า ก่อนที่จะเข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวซึ่งขณะนี้เข้ามาทำเต็มตัวได้ประมาณ 5 ปีแล้ว ตัวเองอยู่ในแวดวงสายการเงินมาก่อน โดยเป็นผู้จัดการกองทุนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมาประมาณ 4-5 ปี การลงทุนกลุ่มบริษัทเน้นต่อยอดจากการเล็งเห็นความสำคัญในอุตสาหกรรมนั้นๆว่ามีการเติบโตหรือไม่ อย่างไร

อุตสาหกรรมไหนมีทิศทางการเติบโตที่ดี กลุ่มบริษัทก็จะเน้นไปเจรจาและหาพันธมิตรในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น ธุรกิจรถเช่า การผลิตรถ EV ควบคู่กับการลงทุนเพื่อรักษามูลค่าของธุรกิจไว้ เช่น โรงงาน ซึ่งเมื่อก่อนเน้นการผลิตรถของตนเอง แต่เมื่อสภาพตลาดเปลี่ยนแปลงไป จึงหันมาเน้นการรับจ้างประกอบรถยนต์มากขึ้น เป็นต้น 

สินค้าและบริการที่เราขายต้องตอบโจทย์ลูกค้า อยู่บนต้นทุนที่เราอยู่ได้ พนักงานอยู่ได้ นักลงทุนพอใจ ต้องบาลานซ์ให้เท่ากัน จะให้น้ำหนักเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้สะท้อนให้เห็นถึง ผลประกอบการของบริษัทไตรมาสที่ 4/2565 บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยมาจากบริษัทลูกที่ขาดทุนน้อยลง บริษัทร่วมทุนมีผลประกอบการที่ดีขึ้น equity income ที่เข้ามาโตขึ้นถึง 2 เท่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 63 ล้านบาท และมี margin สูงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

โดยเป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนที่ทำได้ดี และบริษัทยังคงมีพื้นฐานและงบดุลที่แข็งแกร่ง ไม่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ทำให้ปีนี้เป็นอีกปีที่ดีขึ้น นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจของบริษัทลูกในเครือที่ขาดทุน สู่ธุรกิจใหม่ที่สามารถสร้างกำไรให้กับไทยรุ่งได้แทน

ยังมีจุดที่ต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก

ด้าน วงศ์วริศ กล่าวว่า แม้ว่าตัวเองจะมีความฝันตั้งแต่วัยเด็กในการเข้ามาทำงานสานต่อธุรกิจครอบครัวด้วยการเลือกเรียนด้านวิศวะในระดับปริญญาตรีและต่อปริญญาโทด้านการบริหารอุตสาหกรรมโรงงาน คิดว่าตัวเองมีความรู้และประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่ประเทศญี่ปุ่น มากว่า 2 ปี และเป็นทายาทคนแรกที่เข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัว ก็ตาม 

ทว่าเมื่อเข้ามาทำงานจริงในบริษัทแล้ว กลับพบว่า การเรียนรู้ต้องมาจากการทำงานจริง สิ่งที่เราคิด ที่เราเรียนมา ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

ก้าวต่อไป “ไทยรุ่ง” กับโอกาสตลาดรถ EV และธุรกิจที่ไม่หยุดอยู่แค่ “ทายาท”

ผมเป็นคนแรกที่เข้ามาทำงานกับครอบครัว เมื่อก่อนเราเรียนใช้ได้ และคิดว่าเรารู้เยอะ แต่พอมาทำงานจริงๆเราก็รู้ว่ามันไม่ใช่ เรายังต้องเรียนรู้และพิสูจน์ตัวเองอีกมาก 

วงศ์วริศ กล่าวว่า การทำงานของตัวเองคือต้องพยายามนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเข้ามา การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เช่น การผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ก็เป็นจุดหนึ่งที่หากบริษัททำเอง อาจทำได้ช้ากว่า ด้วยองค์กรที่ใหญ่ ไม่คล่องตัว ดังนั้นการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์จึงเป็นการขับเคลื่อนที่เร็วและตอบโจทย์ได้ดี

สำหรับบทพิสูจน์ที่มองว่าต้องทำให้เกิดขึ้น คือ การสร้างทีม สร้างคน หากหาคนรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์กับวัฒนธรรมองค์กรบางส่วนไม่ได้ การหาพาร์ทเนอร์คือตัวเลือกที่เหมาะสมในการต่อยอดศักยภาพในการผลิตของโรงงานที่บริษัทมีอยู่ พยายามหาไอเดียใหม่ๆ หาพาร์ทเนอร์ที่ใช่ในการต่อยอดธุรกิจร่วมกัน

สิ่งที่องค์กรที่อยู่มายาวนานต้องเผชิญ คือการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ ซึ่งทั้ง 2 รุ่น มีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน การทำงานร่วมกันที่ดีที่สุดคือการพูดคุย เพราะสิ่งที่คนรุ่นใหม่คิด อาจจะทำไม่ได้ ขณะที่คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์มากกว่า 

วงศ์วริศ ย้ำว่า แม้ว่าตัวเองได้เข้ามาทำงานในบริษัทมากว่า 7 ปี แล้วก็ตาม มีประสบการณ์เข้าไปเรียนรู้ทุกแผนกของบริษัท ดูโรงงานที่ระยองมา 2 ปี ทำให้เข้าใจและเรียนรู้การทำงานของงานและคนในแต่ละแผนก ก็ยังพบว่ายังมีจุดที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก