posttoday

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงไม่พัก ต่อเป็นสัปดาห์ที่ 6 ขณะที่เงินบาทพลิกแข็งค่า

19 มีนาคม 2566

ดัชนี้หุ้นไทยร่วงลงหนักจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บ้างช่วงท้ายสัปดาห์ ส่วนเงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงกดดันเงินดอลลาร์ฯ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาททยอยแข็งค่าเกือบตลอดสัปดาห์ และทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.13 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย และทยอยอ่อนค่าลงตามทิศทางบอนด์ยีลด์ระยะสั้นของสหรัฐฯ

หลังจากที่ปัญหาของธนาคารบางแห่งในสหรัฐฯ ทำให้ตลาดประเมินว่า เฟดอาจไม่ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินได้มากนักในการประชุม FOMC เดือนมี.ค. นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และสถานะเข้าซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ     

เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้น ๆ ในระหว่างสัปดาห์ หลังข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ หนุนการคาดการณ์ว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 25 bps. ในการประชุม 21-22 มี.ค. นี้

โดยเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางสัญญาณที่สะท้อนว่ามีการเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในแบงก์ ที่ประสบปัญหาทั้งในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบกับเงินบาทน่าจะมีแรงหนุนตามปัจจัยทางเทคนิคด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงติดตามปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์อย่างต่อเนื่อง

ในวันศุกร์ที่ 17 มี.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.21 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 35.07 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค. นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 9,735 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สามที่ 3,692 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 7,103 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 3,411 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plot และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด

รวมถึงผลการประชุม BOE อัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน ประเด็นปัญหาของแบงก์ในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ สถานการณ์เงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขการส่งออกเดือนก.พ. ของไทย ข้อมูล PMI (เบื้องต้น)สำหรับเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.อังกฤษ

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 1,518.66 จุดในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ทั้งนี้ หุ้นไทยร่วงลงหนักในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากกังวลปัญหาของภาคธนาคารสหรัฐฯ หลังธนาคารบางแห่งประสบปัญหาและถูกสั่งปิดกิจการ

ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวกดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม กระตุ้นให้เกิดแรงขายหุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆอีกครั้งระหว่างสัปดาห์ หลังมีรายงานข่าวเชิงลบเกี่ยวกับสถาบันการเงินรายใหญ่แห่งหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ตามปัจจัยทางเทคนิค ประกอบกับมีข่าวเกี่ยวกับการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา ซึ่งช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนลงบางส่วน  

ในวันศุกร์ (17 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,563.67 จุด ลดลง 2.25% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 79,285.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.57% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.90% มาปิดที่ระดับ 538.27 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,535 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (21-22 มี.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และประเด็นการเมืองภายในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. รวมถึงดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมี.ค.

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย LPR เดือนมี.ค. ของจีน การประชุม BOE ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและอังกฤษ ตลอดจนดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น และยูโรโซน