posttoday

ทายาท 'ศิริบัญชา' ติดเครื่อง growth engine ส่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสู่ตลาด

09 มีนาคม 2566

สรวิศร์ กิจเจริญโรจน์ ทายาทแห่งศิริบัญชา ผู้ขับเคลื่อน growth engine ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเชิงนวัตกรรมสู่ตลาด ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าวัย Silver Age รวมถึงสร้างสรรค์สินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มแม่และเด็ก

สรวิศร์ กิจเจริญโรจน์ กรรมการผู้จัดการ   บริษัท ศิริบัญชา จำกัด บอกเล่าถึงเส้นทางก่อตั้งกิจการของครอบครัวว่า เริ่มจากที่คุณพ่อ บุญฤทธิ์ กิจเจริญโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร ซึ่งเดิมคือเภสัชกร ที่เปิดร้านขายยาของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว ได้มาซื้อกิจการจากนายแพทย์กมล ลิขนจุล ในปี 2526 ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราช (เป็นที่มาของการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์และกิจการ)

 

เนื่องจากบุญฤทธิ์ เล็งเห็นโอกาสที่จะได้จากการซื้อโรงงานผลิตยาจากเจ้าของที่กำลังจะเลิกกิจการ ที่แม้ตอนนั้นจะมียาที่ผลิตภายในโรงงานอยู่เพียง 2-3 ชนิดก็ตาม เช่น ยาแดง ยาโรคกระเพาะ ฯลฯ 

 

ตอนนั้นยังมีกิจการผลิตยาของคนไทยเพียงไม่กี่แห่ง ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยังใช้ยาที่ผลิตจากเมืองนอก จึงต้องจ่ายเงินซื้อยาที่มีต้นทุนสูงและราคาแพง

 

ทั้งนี้หลังจากเริ่มกิจการได้สักพัก จึงเริ่มเห็นว่าตลาดมีความต้องการใช้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งแม้จะไม่ได้สูงมาก แต่ก็เห็นว่ามีอยู่อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งมองว่ายังมีผู้เล่นในตลาดเพียงไม่กี่ราย นอกจากนี้ยังไม่มีรายใดที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าเชื้อเลย ด้วยมองว่าเป็นแค่ยาล้างแผล

 

แต่ทาง "ศิริบัญชา" เริ่มสร้างเอกลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ด้วยการใส่สีฟ้า (ที่สื่อถึงความสะอาด) พร้อมด้วยฉลากและตราสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ทำให้คนจดจำได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแอลกอฮอล์ล้างแผลวรต้องมีรูปแบบลักษณะเช่นนี้ 

 

อีกหนึ่งข้อพิสูจน์ของความพยายามบริหารกิจการ ให้ประสบความสำเร็จในแนวทางที่มุ่งหวัง ทำให้ล่าสุด "ศิริบัญชา" ได้เป็นหนึ่งใน 6 บริษัท ที่ได้รับ รางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ในครั้งที่ 18 จากความร่วมมือระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

ด้วยมุมมองที่ "ศิริบัญชา" เป็นแบรนด์ที่เน้นกลยุทธ์การรักษาจุดยืนด้านคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ จึงทำให้เกิด Brand Trust ต่อลูกค้า มีการเติบโตมั่นคง และสามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ในหลากหลายมิติมากขึ้น โดยได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มผู้ใช้มายาวนานกว่า 70 ปี

 

รวมถึงยังเป็นผู้ริเริ่มทำแอลกอฮอล์เป็นสีฟ้ารายแรก เพื่อสื่อถึงความสะอาด และสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำแบรนด์ได้  รวมถึงผลิตยาสมุนไพรแผนโบราณ  ภายใต้แบรนด์ โยคี  

 

ทายาท 'ศิริบัญชา' ติดเครื่อง growth engine ส่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสู่ตลาด

 

สรวิศร์ ถ่ายทอดเรื่องราวความท้าทายในฐานะทายาทที่มารับช่วงดูแลกิจการ "ศิริบัญชา" อีกว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด แม้คนทั่วไปจะมองว่าเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีวิกฤติเกิดขึ้นร่วมด้วย 

 

นั่นคือในด้าน supply chain ที่เกิดจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่จะมาป้อนการผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ที่มีความต้องการซื้อสูงมากในตอนนั้นถึงเกือบ 40 เท่าจากช่วงก่อน เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไม่สามารถส่งสินค้าข้ามแดนได้ ขณะที่โรงกลั่นในประเทศ ที่ได้มาตรฐานเพียงพอที่จะนำมาผลิตแอลกอฮอลล์ฆ่าเชื้อมีเพียงไม่กี่ราย

 

แม้ตอนนั้น ภาครัฐจะผ่อนผันให้ใช้วัตถุดิบที่มาตรฐานต่ำลงได้ แต่บริษัทก็ยังยืนหยัดที่จะใช้แบบเดิม แต่เลือกที่จะใช้วิธีเจรจาต่อรองกับ supplier แทน เพื่อให้ยังรักษามาตรฐานผลิตภัณฑ์ไว้ และยึดถือเรื่องความเชื่อถือที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ของเราไว้

 

หลายคนมองว่ายอดขายโต 20-30 เท่า แต่ด้วยติดเรื่อง supply ทำให้ไม่สามารถผลิตได้สูงขนาดนั้น แต่ด้วยที่ลูกค้าเชื่อถือในแบรนด์เรา ทำให้มีแค่แอลกอฮอล์ของศิริบัญชา ที่ถูกไป resale ที่ราคาสูงถึง 5 เท่า ตอนช่วงโควิด -19 ระบาด" 

 

ทั้งนี้อีกโจทย์สำคัญของทายาทศิริบัญชา นอกจากสร้างการเติบโตจากธุรกิจเดิมที่มีแอลกอฮอล์เป็น Hero Product อยู่แล้ว ยังต้องเสาะหา growth engine ใหม่ที่จะมาต่อยอดกิจการให้เติบโตกว่าเดิม โดยสรวิศร์เล่าว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากสมุนไพรไทยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ 

 

เราทำการวิจัยเสร็จแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาต่อ เพื่อให้พร้อมเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าสู่ตลาดและขายได้ 

 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแผนงานขับเคลื่อน growth engine ของสรวิศร์ คือการขยายไปยังกลุ่ม Silver Age หรือคนวัย 50 ปีขึ้นไปที่ให้ความสำคัญสุขภาพ ด้วยเพราะปัจจุบันคนในวัยดังกล่าวยังมีพลังในการใช้ชีวิตอยู่มาก จึงมีความต้องการในเรื่องอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่จะมาตอบโจทย์ด้านดูแลสุขภาพ ทั้งนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับกลุ่ม Silver Age ด้วย 

 

รวมถึงยังเห็นโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ  เพื่อตอบโจทย์และแก้ pain point ของลูกค้ากลุ่มแม่และเด็ก เช่น มหาหิงค์ชนิดโรลออน ที่ไม่มีสีและแทบจะไม่มีกลิ่น ทำให้ใช้งานได้สะดวก สีไม่ติดเสื้อผ้า และไม่เหม็น เหมือนมหาหิงค์แบบดั้งเดิม ซึ่งในอนาคตจะยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ออกมาอีกเรื่อย ๆ 

 

ทายาท 'ศิริบัญชา' ติดเครื่อง growth engine ส่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสู่ตลาด

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรายได้หลักของศิริบัญชายังมาจากกลุ่มเวชภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันอยู่ แต่ต่อไปมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสมุนไพรเชิงนวัตกรรมมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มสุขภาพและความงาม ตลอดจนวางแผนที่จะปรับ portfolio ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ฐานรายได้โดยรวมใหญ่ขึ้น 


อีกหนึ่งความท้าทายสำหรับผู้นำองค์กรรุ่นใหม่ คือการบริหารจัดการองค์กรที่มีทีมงาน 150 คนในหลากหลายวัยให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งย่อมมีประเด็นในเรื่อง Generation Gap โดย สรวิศร์ เล่าว่า จุดสำคัญอยู่ที่คำว่า respect

 

ทั้งในมุมของการให้ความเคารพกับคนรุ่นก่อนมีเป็นเหมือนผู้ก่อตั้งองค์กร และการที่คนรุ่นก่อนให้การยอมรับกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ เพราะหากทุกกลุ่มต่างมี respect ต่อกันก็จะรับฟังซึ่งกันและกัน และจะใช้เหตุผลในการแก้ปัญหามากกว่าการใช้อารมณ์ต่อกัน 

 

ถ้าให้คะแนนเรื่องการบริหาร Generation Gap ผมว่าเราทำได้ดีระดับหนึ่ง น่าจะได้ราว ๆ 7 คะแนนจากเต็ม 10 โดยเฉพาะจากที่เห็นว่าช่วงหลัง ๆ คุณพ่อจะเชื่อใจมากขึ้น หรือจะปรึกษาหรือตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น ยิ่งเมื่อเห็นว่าทิศทางที่เราจะไปชัดเจน ก็ย่อมวางใจมากขึ้น  


เช่นเดียวกับที่ยังต้องดูแลเรื่องบริหารจัดการงานภายในส่วนอื่น ๆ โดยเขาเล่าว่าตลอดเวลาที่ทำงานมา 15 ปี ตัวเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานจัดการระบบหลังบ้านก่อน เพื่อให้หลังบ้านทำงานอย่างเป็นระบบ  โดยทีมงานมีอำนาจในการตัดสินใจได้มากขึ้น เช่นเดียวกับนำพวกระบบเทคโนโลยี เช่น ERP มาใช้ในการบริหารจัดการด้วย 

 

อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของของผมคือต้องสร้างให้แบรนด์ touch กับคนทุกช่วงวัยให้ได้ เพราะคนแต่ละกลุ่มมีความต้องการที่ต่างกัน 

 

ในส่วนของการผลักดันช่องทางอีคอมเมิร์ซที่จะเน้นหนักในฝั่ง B2C เพิ่มขึ้นนั้น ทายาทแห่งศิริบัญชา เล่าว่า แม้พัฒนาอีคอมเมิร์ซตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะเกิดยอดขายอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีก่อน จนเติบโต 100 ถึง 200 เท่า จึงมองว่าช่องทางออนไลน์เป็นโอกาสเติบโตในอนาคต

 

เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคก็นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องออนไลน์มากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับที่บริษัทเองก็พยายามกระจายสินค้าไปวางขายทั้งในร้านขายยาทั่วไทยที่มีกว่า 18,000 ร้านค้า และร้านสะดวกซื้ออีกกว่า 10,000 ร้านด้วย เพื่อให้เข้าถึงในทุกจุดที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ 


สำหรับความคืบหน้าและโอกาสในการใช้ประโยชน์จากตลาดทุน เพื่อขยายศักยภาพของ "ศิริบัญชา" ในอนาคตนั้น สรวิศร์ เปิดเผยว่า อยู่ในช่วงของการศึกษาและเตรียมตัวในขั้นต้นเท่านั้น ยังคงต้องใช้เวลาสักระยะก่อน แต่ทางบริษัทเองก็มองว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เพียงช่วยในเรื่องของต้นทุนทางการเงิน แต่ยังให้ประโยชน์ในแง่ขยายการเติบโตของธุรกิจ ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ และการหาพันธมิตร