posttoday

ผู้ว่าฯ รฟม. เผย คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มกระทบแผนเปิดให้บริการเดินรถ

06 มีนาคม 2566

แต่ยังไม่รู้จัดการอย่างไร เพราะมีคดีที่ต้องต่อสู้กันในศาลตามกระบวนการยุติธรรม แจงจะเดินหน้าได้ต้องรอเซ็นสัญญากับ BEM ก่อน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ รฟม. ยังไม่สามารถลงนามสัญญากับเอกชนที่ชนะการประมูลว่า ยอมรับว่า การที่ รฟม. ยังไม่สามารถลงนามสัญญากับเอกชน ในขณะนี้ได้นั้น ส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมถึงการดูแลรักษา (Care of Work) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินค่าดูแลรักษาต่อเดือน และพยายามเจรจาให้ผู้รับจ้างงานโยธาส่วนตะวันออก ร่วมรับภาระส่วนหนึ่ง และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ต้องดำเนินการงานโยธาในส่วนของตะวันตก และการเดินรถตลอดทั้งเส้นทาง ให้มารับมอบโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกไปดูแลให้เร็วขึ้น   
 

 

“เวลานี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะโครงการนี้ยังมีคดีฟ้องร้อง ที่ต้องต่อสู้กันในศาลตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง รฟม. มีความตั้งใจที่จะทำโครงการให้แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ได้ อีกทั้งเข้าใจดีว่า ประชาชนรอใช้บริการอยู่ อย่างไรก็ตามขณะนี้คงต้องรอให้มีการลงนามสัญญากับ BEM ก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถเร่งรัดการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องขบวนรถ เพราะต้องสั่งผลิต ไม่สามารถที่จะสั่งซื้อและนำเข้ามาได้เลย จึงต้องใช้เวลา แต่คงทยอยนำขบวนรถเข้ามาให้บริการ ไม่ได้มาพร้อมกันทั้งหมด” นายภคพงศ์ กล่าว

 

ขณะที่ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร(กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ว่า คืบหน้าประมาณ 98.80% มีงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% จำนวน 4 สัญญา ประกอบด้วย
 

 

สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที (บมจ.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น-บมจ.ช.การช่าง) เป็นผู้รับจ้าง

 

สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที เป็นผู้รับจ้าง  

 

สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง และสัญญาที่ 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที เป็นผู้รับจ้าง

 

ทั้งนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 93.35% และสัญญาที่ 6 งานก่อสร้างระบบราง บมจ.ยูนิคฯ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 92.28% คาดว่าทั้งโครงการฯ จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 66 โดยผู้รับจ้างจะรับประกันผลงานการก่อสร้างประมาณ 2 ปี 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี)และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี (ใต้ดินตลอดสาย)

 

รฟม. วางแผนเบื้องต้นจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก เดือน ส.ค.68 และส่วนตะวันตก เปิดบริการเดือน ธ.ค.70

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ รฟม. เคยประมาณการว่า การดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกที่แล้วเสร็จไปก่อน ต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 41.26 ล้านบาท แต่หากมีการลงนามสัญญา ทางผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง