posttoday

"ธนวรรธน์" ชี้เลือกตั้งปี 66 เงินสะพัด 1 แสนล้าน

24 กุมภาพันธ์ 2566

“นักวิชาการ” ประสานเสียง ประกาศเลือกตั้ง 7 พ.ค. 66 สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ดันความเชื่อมั่นประเทศพุ่ง เงินสะพัดทั่วประเทศ 1 แสนล้าน ฝากโจทย์รัฐบาลใหม่เร่งผลักดันศก.โตเทียบเพื่อนบ้าน หลังจีดีพีโตต่ำกว่าที่ควรเป็น ที่ 5% พร้อมแนะปชช. เลือกคนมีความสามารถ มาบริหารประเทศ

รศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาในเดือนมีนาคม และกำหนดวันเลือกตั้ง 7 พ.ค. 66 ว่า ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน เพื่อให้นักการเมือง และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้มีการวางแผนการทำงานได้ชัดเจน และเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งให้เดินหน้าต่อไป 

 

ตลาดหุ้นสนองเชิงบวกชัดเจน

ในส่วนของเศรษฐกิจ จะเห็นว่า หลังประกาศ ตลาดหุ้นตอบสนองในเชิงบวกชัดเจน เพราะมีสถิติในอดีตว่า ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ธุรกิจใดจะได้อนิสงส์ และความชัดเจนนี้เองจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น และสามารถวางแผนในการซื้อหุ้นได้มากขึ้น แม้ก่อนหน้าจะพอทราบอยู่แล้วก็ตาม

 

เงินสะพัด 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการเลือกตั้งคาดว่า จะมีเงินมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยมีสารตั้งต้นมาจากธุรกิจที่มีกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เช่น ธุรกิจทำป้ายโฆษณาหาเสียง ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินหมุนเวียนเข้าสู่ที่เร็ว ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีเงินสะพัดประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยมีความคึกคักในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังเผชิญกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถอย ภาคการส่งออกยังไม่มีความโด่ดเด่นในช่วงไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะที่การเลือกตั้ง ไม่มีผลต่อภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจยังได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว บวกกับเงินสะพัดจากการเลือกตั้ง ที่กระจายไปทั่วประเทศ ยังทุกกลุ่มอาชีพ 

 

การเลือกครั้งนี้จะสะท้อนได้ 2 มุมมอง 

หนุนภาพลักษณ์ดี- สะท้อนเสียง  “ฉันทามติ” ประชาชน


1 การเปลี่ยนถ่ายการบริหารบ้านเมืองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหลังจากที่ผ่านมาประเทศมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ความสับสนวุ่นวาย มีการประท้วงมากมาย ประเทศก็จะเริ่มเปลี่ยนจากการประท้วงตามท้องถนน มาเป็นการประท้วงในสภาฯ ตามรูปแบบที่ควรเป็น ส่งผลที่ดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ ด้านสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพ ภายใต้กรอบประชาธิปไตย 

 

2 สะท้อนประชาชนตั้งใจเลือกใครมารัฐบาล ไม่ว่าพรรคไหน หรือใครจะมาเป็นนายกฯ สุดท้ายแล้วจะเป็น กระบวนการทางการเมือง แต่ “ฉันทามติ” ของประชาชน จะชี้ให้เห็นว่า เสียงส่วนใหญ่ประชาชนชื่นชอบใคร และเห็นว่า ได้รับประโยชน์ 

 

โจทย์ใหญ่รัฐบาล

นายธนวรรธน์ ยังเน้นย้ำด้วยว่า การเปลี่ยนมุมมองในการบริหารประเทศ ไม่ว่าขั้วเก่าขั้วใหม่ แต่สิ่งที่อยากเห็นที่สุด 

 

ข้อที่ 1 ควรเป็นรัฐบาลที่ได้รับยอมรับจากประชาชน  และเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ 

 

ข้อที่ 2 ต้องเป็นรัฐบาลที่คัดเลือกคนมีประวัติดี มีความสามารถโดดเด่นนั้นตำแหน่งนั้น 

 

ข้อที่ 3 มีนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ 5% 

 

ข้อที่ 4 ต้องการให้รัฐบาลใหม่ขจัดปัญหาคอรัปชั่น อย่างเป็นรูปธรรม
 

 

“เชื่อว่าที่ผ่านมา ประชาชนมีมุมมองที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และอยากฝากให้ประชาชนออกไปเลือกตั้งเยอะๆ และควรเลือกคนที่มีประวัติดี มีความสามารถ โดยต้องดูว่า นโยบายที่เป็นผลประโยชน์ระยะสั้น และไม่เป็นผลเสียระยะยาว เพราะที่ผ่านมาประชาชนมักเลือกผลประโยชน์ระยะสั้น แต่นำมาซึ่งผลเสียระยะยาว คือ นโยบายที่ประชาชนชื่นชอบ แต่ทำให้มีความเสี่ยงด้านการคลังในระยะยาว เช่น นโยบายทำให้มีหนี้สาธาระพุ่งเพิ่มขึ้นสูงในการกู้ยืมเงินจากภาษีประชาชนไปทำให้เกิดโครงการที่ไม่ได้ทำประโยชน์ในระยะยาว”

 

ดันเศรษฐกิจโตไม่ต่ำกว่า 5% สู่การเติบโตยั่งยืน

 

สำหรับส่งที่รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญในลำดับแรกๆ คือ การผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น คือ ต่ำกว่า 5% ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลใหม่ ควรต้องทำ คือ 

 

1 นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจไทยเติบโตสูง-ระยะยาว นโยบายเก่าของรัฐที่ผ่านมาถ้าดี ก็ควรส่งเสริมหรือสารต่อให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจประเทศ หากเศรษฐกิจไทยไม่โตจะมีความมั่งคั่งน้อย เพราะขณะนี้ไทยเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุ ต่อไปจะมีประชากรทำงานน้อย อัตราการเกิดเริ่มติดลบ จำนวนประชากร 70 ล้านคน อาจลดเหลือ 65 ล้านคน ไทยจะขาดเสน่ห์ในระยะยยาว 

 

2 นโยบายเตรียมแผนรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะความพร้อมเรื่องงบประมาณ

 

3 นโยบายเพิ่มจำนวนประชากรให้เป็นบวก 

 

4.นโยบายส่งเสริมให้ต่างชาติที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศเข้ามาทำงานมากขึ้น

 

5 นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ หรือขจัดให้หายไป 

 

6 นโยบายขจัดคอรัปชั่น ที่เป็นรากเหง้าที่สะสมมาในนานในสังคมไทย และมีแนวโน้มหนักขึ้น

 

สอดคล้องกับ ความเห็นของ ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าว การประกาศวันยุบสภา หรือกำหนดเลือกตั้ง จะสร้างความชัดและความเชื่อมั่นมั่นในทุกภาคส่วน เพระความไม่ชัดเจนจะทำให้เกิดการชะงักงันของการทำงานด้านต่างๆ ทั้งในระบบสภาฯ และในระบบราชการ 

 


“ความชัดเจน จะลดเกียร์ว่างจากปัญหานักการเมืองจะเข้าโหมดการเลือกตั้ง คือ จะเห็นภาพสภฯ ล่ม เพราะนักการเมืองใช้เวลาไปลงพื้นที่หาเสียงแทน หน่วยงานราชการมักใส่เกียร์ว่าง ไม่ทำงาน เพราะรอความชัดเจนของนโยบายใหม่ที่กำลังจะเข้ามา เพราะหากทำไปแล้วก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานกันใหม่ ไม่สร้างผลดีต่อประเทศ” 

 

เลือกตั้งดันจีดีพีโตอย่างน้อย 0.05%

นอกจากนี้ การเลือกตั้งจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น โดยเม็ดเงินการจากเลือกตั้ง ประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอย่างน้อย 15% หรือ 0.05% ของจีดีพี ซึ่งเม็ดเงินส่วนนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายสู่พื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ
 

 

พุ่งเป้าดูแลหนี้เสีย-ค่าครองชีพ-ดึงศก.โตเทียบเพื่อนบ้าน

ระยะสั้นเฉพาะหน้า คือ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ ให้สามารถให้ระดับหนี้ให้กลับไปอยู่ช่วงก่อนโควิดได้ ที่เป็นปัญหาดินพอกหางหมูตั้งแต่ช่วงโควิด ขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงต้นทุนภาคการคลังในระยะยาวด้วย ไม่ใช่ช่วยเหลือในระยะสั้นไปแล้ว ส่งผลเสียในระยะยาว 

 

ส่วนในระยะยาว ควรดึงเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตให้เทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ เพราะเพียงเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เศรษฐกิจเขาเติบโตมากกว่าเรา ดังนั้นเป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตให้ได้