posttoday

"ศุภชัย" แนะควรรับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์ฉุกเฉิน 4 ด้าน

09 กุมภาพันธ์ 2566

ศุภชัย เห็นด้วยกับธปท.ใช้นโยบายการเงินด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ไปกดดันเศรษฐกิจในช่วงฟื้นตัว พร้อมแนะไทยรับมือความเสี่ยงสถานการณ์ฉุกเฉินใน 4 ด้าน

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่า ด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าว ปาฐกถาพิเศษ “Start Today เศรษฐกิจไทย สตาร์ทอย่างไร ให้ก้าวนำโลก” ภายใต้งาน “อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทย..สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” จัดขึ้นโดย โพสต์ทูเดย์ และ เนชั่นทีวี ว่า 

 

เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ใช้วิธีทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงตามทิศทางธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกับสหรัฐไม่เหมือนกัน เพราะเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงมาก ๆ จะกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจในอนาคตได้

 

อย่างไรก็ตาม มองว่า ไทยควรให้ความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ไปด้วย เช่น หามาตรการ หรือกฏระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยยังน้อยมาก หรือมีเพียง 15% ของ GDP  ทั้งที่ความจริงควรขึ้นไปถึง 20% เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมามีการลงทุนอยู่ที่ 25-30% ของ GDP

 

นอกจากนี้ ไทยก็ควรให้ความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่ขณะนี้เป็นปัญหาหนักยิ่งกว่าปัญหาเงินเฟ้อ โดยผู้มีรายได้น้อยต้องได้รับการเช่วยเหลือเป็นพิเศษ แต่ความช่วยเหลือต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม  เหมือนตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ครัวเรือนจะได้รับเงินช่วยเหลือ ก็ต่อเมื่อให้เด็กได้เรียนหนังสือ ถ้าเด็กไม่ไปรร.รัฐบาลจะหยุดจ่ายเงินอุดหนุนทันที หรือเด็กต้องได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
ขณะที่เศรษฐกิจโลกในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง เราต้องมาดูความสมดุลทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก ยังเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

 

แต่เศรษฐกิจในประเทศเรากำลังก้าวเข้าสู่  Aged Society โดยขณะนี้ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากรไทยแล้ว หรือมีผู้สูงอายุจำนวนเท่ากับประเทศจีนแล้ว ขณะที่ประชากรวัยแรงงานของเราลดลงเรื่อย ๆ แต่มีผู้สูงอายุมากขึ้น โดยตอนนี้ 1 คนแบก 70 คน จะยิ่งส่งผลเสียต่อภาคครัวเรือน การอุดหนุนสวัสดิการต่าง ๆ  ต่างจากอินโดนีเซียที่มีประชากรภาคแรงงานสูง 

 

ดังนั้นเราจำเป็นต้องสร้างการกระตุ้นในภาคแรงงานให้มากขึ้น เช่น ยืดอายุเกษียณออกไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ยังมีอัตราแรงงานอยู่ต่อไป นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญในการ upskill และ reskill เพื่อให้ภาคแรงงานผลิตมีศักยภาพที่ดีขึ้น 
 

 

พร้อมกันนี้ นายศุภชัยยัง ระบุว่า ไทยจะโดดเด่นได้ ต้องต่อสู้ในเวทีโลกได้มากขึ้น ต้องเป็นผู้นำในFAO เป็นจุดที่ไทยจะไปสร้างอันดับที่สูงขึ้นในด้านอาหารได้ เช่นเดียวกับเรื่องน้ำก็เป็นประเด็นยที่สำคัญอีกอย่าง และจะเป็นประเด็นความขัดแย้งกันในอนาคต

 

ทั้งนี้ ยังแนะนำว่า ไทยควรพร้อมรับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์ฉุกเฉิน ใน 4 ด้าน

 

1.ความพร้อมด้านพลังงาน ไทยต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้น

 

2.ความพร้อมด้านอาหาร รักษาตำแหน่งแหล่งอาหารโลก หลังจากที่ไทยถูกลดอันดับไป 13 อันดับกลายเป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียน 

 

3.ความพร้อมด้านสุขภาพ  สาธารสุขไทยมีความแข็งแกร่ง แต่เราต้องไปหาใบอนุญาตเพื่อมาผลิตยาเองมากขึ้น

 

4.ต้องพยามต่อสู้บนเวทีโลกให้มากขึ้น  ถ้าโดดเดี่ยวไทยจะไม่ประสบความสำเร็จในเวทีโลก

 

นอจากนี้ นายศุภชัยยังได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับพัฒนาด้านการศึกษาอีกว่า ควรเน้นเรื่องบทบาทของครู โดยต้องหันมาให้ความสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจมากขึ้น ขณะที่ content ที่เด็กเรียน ควรต้องมีเรื่องศิลปผสมเข้าไปด้วย เพื่อให้เติบโตขึ้นมาอยู่รวมกันในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงการะระจายความทั่วถึงด้านการศึกษา ที่ต้องผลักดันให้ได้เท่าเทียมมากที่สุด เช่น ให้ผู้มีประสบการณ์ไปช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา