posttoday

5 ตระกูลเศรษฐีไทยเชื้อสายจีน จาก 'เสื่อผืนหมอนใบ' สู่ทรัพย์สินระดับแสนล้าน

20 มกราคม 2566

สำรวจ 5 ตระกูลมั่งคั่งหัวแถวของไทย ทั้งเจียรวนนท์ อยู่วิทยา สิริวัฒนภักดี จิราธิวัฒน์ และตั้งคารวคุณ ที่ต่างมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนโพ้นทะเล ผู้สร้างตัวจาก 'เสื่อผืนหมอนใบ' สู่เจ้าของทรัพย์สินระดับแสนล้าน

วลี ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ สะท้อนถึงการต่อสู้ดิ้นรนและความขยันหมั่นเพียร ของชาวจีนจากโพ้นทะเลที่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด มาสร้างตัวบนแผ่นดินไทย ดังเช่นบรรดาผู้มั่งคั่งและเจ้าของกิจการทั้ง 5 ตระกูลใหญ่ ที่บรรพบุรุษล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดมาจากแซ่ต่าง ๆ ที่ริเริ่มจากธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ ที่ครอบครองทรัพย์สินระดับแสนล้าน 

 

แซ่เจี่ยต้นกำเนิดแห่ง ‘เจียรวนนท์’


เมื่อ 100 ปีก่อน  'เจี่ย เอ็กชอ' ชาวกวางตุ้งรวบรวมเงินก้อนหนึ่งที่สะสมมาจากการค้าขาย และตัดสินใจลงเรือที่ซัวเถา หอมเมล็ดพันธ์ผักข้ามน้ำข้ามทะเลมาลงหลักปักฐานที่เยาวราช ก่อนเติบโตขึ้นเป็นบริษัท เจียไต๋ จำกัด กระทั่งกิจการเติบใหญ่และแผ่กิ่งก้านสาขาขยายออกไปไกลทั่วโลกกลายเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์เฉกเช่นปัจจุบัน 

 

เจี่ย เอ็กชอ เป็นลูกชายคนโตของครอบครัว มีน้องชาย 2 คน น้องสาวอีก 2 คน เดิมทีครอบครัวตั้งรกรากที่ตำบลฮั่วซัว อำเภอเท่งไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน  โดยพ่อของเขามีที่ดินให้ชาวนาเช่า ชีวิตความเป็นอยู่จึงไม่ลำบากนัก กระทั่งคุณพ่อเสียชีวิต ภาระทั้งหมดของครอบครัวจึงตกมาที่ลูกชายคนโต ซึ่งต้องเริ่มทำการค้าขายตั้งแต่เด็ก ที่ในตอนนั้นคือการค้าขายเมล็ดพันธุ์ผัก

 

จนในปี 2462 ที่รัฐบาลไทยในสมัยนั้นสนับสนุนให้ชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาเปิดกิจการในประเทศ จึงมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยเดินทางมาเสี่ยงโชคและหาโอกาสใหม่ให้ชีวิต  เช่นเดียวกับเจี่ย เอ็กชอ ที่เปิดกิจการร้านขายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และอุปกรณ์สำหรับการเพาะปลูกในปี 2464 ด้วยชื่อร้าน  'เจียไต้จึง'  (บริษัท เจียไต๋ จำกัด ในปัจจุบัน) 

 

ร้านเจียไต้จึงเป็นกิจการในห้องแถว 2 ชั้นบนถนนทรงสวัสดิ์ อยู่ในย่านทรงวาด ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยของครอบครัวและร้านค้า ที่ดูแลโดยสองพี่น้องคือ เจี่ย เอ็กชอ และน้องชาย เจี่ย จิ้นเฮี้ยง (ชนม์เจริญ เจียรวนนท์) ซึ่งจุดสำคัญที่ทำให้กิจการรุ่งเรืองมาจากที่ เจี่ย เอ็กชอ พกวิชาปลูกเก๊กฮวย ให้ออกดอกนอกฤดูได้ มาเริ่มต้นทำธุรกิจที่เมืองไทย

 

กระทั่งมาถึงมือทายาทรุ่นสอง ที่ขยายกิจการจากจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก มาสู่กิจการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ภายใต้ชื่อร้านเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเติบโตต่อมาเป็นเครือ CP ในฐานะบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายจนปัจจุบัน 

 

โดย CP เป็นกลุ่มบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ที่มีกิจการครอบคลุม 8 สายธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสื่อและโทรคมนาคม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนตร์และอุตสาหกรรม ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนธุรกิจการเงินและการธนาคาร  

 

โดยปัจจุบัน ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้เป็นดังประมุขของตระกูลอยู่ในสถานะประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ลูกชายคนโตคือ สุภกิต เจียรวนนท์ เป็นประธานกรรมการ และ ศุภชัย เจียรวนนท์ ลูกชายคนเล็กเป็นประธานคณะผู้บริหาร 

 

อย่างไรก็ตามแม้ CP จะแตกแขนงธุรกิจไปยังกลุ่มต่าง ๆ แต่ธุรกิจอาหารคือส่วนสำคัญที่ต่อยอดความมั่งคั่งให้แก่ตระกูลเจียรวนนท์ จนขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทยด้วยทรัพย์สินสุทธิถึง 9.33 แสนล้านบาท จากการจัดอันดับของ Forbes เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

แซ่สี่ ต้นตระกูล 'อยู่วิทยา'

 

ธุรกิจ 'กระทิงแดง' หรือที่เรียกติดปากว่า 'เรดบูล' ของตระกูล อยู่วิทยา มีต้นกำเนิดย้อนไกลถึงยุคจอมพล ป. ราวพุทธทศวรรษ 2500 จากวิสัยทัศน์ 'เฉลียว อยู่วิทยา' ผู้เกิดในครอบครัวคนจีน บิดาเป็นชาวจีนไหหลำ ชื่อนายเซ่ง แซ่สี่ ผู้อพยพมาจากเมืองจีน 

 

เริ่มจากที่บ้านมีอาชีพเลี้ยงเป็ด และค้าขายผลไม้ แล้วได้เป็นพนักงานขายยา บริษัท แลคเดอร์เล่ย์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายยาออริโอมัยจากต่างประเทศ ได้ 7 ปี จึงลาออกมาเปิดร้านขายยาและโรงงานผลิตยาเล็ก ๆ ด้วยตนเอง ในชื่อว่า “หจก. ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล” คิดค้นสูตรยาเป็นของตนเอง และให้โรงงานผลิตยาที่มีมาตรฐานในประเทศเยอรมนีเป็นผู้ผลิต

 

ต่อมาจึงตั้งโรงงานผลิตยา ชื่อ บริษัท ที.ซี. มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด และเริ่มขยายกลุ่มสินค้าจากสินค้าประเภทกลุ่มยา ไปสู่กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภคประเภทอื่น ๆ โดยเริ่มต้นสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางยี่ห้อ แท็ตทู จนเห็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทย จึงผลิตสินค้าออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ ในชื่อ 'ทีโอเปล็กซ์-ดีไซรัพ' (100CC) ภายใต้เครื่องหมายการค้า 'กระทิงแดงคู่' ทำให้ผู้บริโภคเรียกขานกันติดปากว่า 'เครื่องดื่มกระทิงแดง' แล้วเป็น 'เครื่องดื่มกระทิงแดง' (1500CC) ในเวลาต่อมา
 

จากความสำเร็จของ เครื่องดื่มกระทิงแดง ในประเทศไทย ทำให้ เฉลียว สบช่องทางนำสินค้าไทยไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป โดยเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2521 ได้จัดตั้งบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด เพื่อผลิตและส่งออกสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเริ่มส่งออกครั้งแรกไปยังประเทศสิงคโปร์ภายใต้ยี่ห้อ 'เรดบูล (Red Bull)'

 

ต่อมาได้รู้จักกับ ดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ซึ่งเป็นตัวแทนขายสินค้าอุปโภคให้กับบริษัท มีความสนใจนำสินค้า Red Bull  ไปจำหน่ายในตลาดยุโรป จึงจับมือกับเฉลียวตั้ง บริษัท เรดบูล จีเอ็มบีเอช (Red Bull GmbH) ขึ้นในประเทศออสเตรีย ที่เฉลียวและครอบครัวถือหุ้น 51% ส่วน Dietrich ถือ 49% โดยวางจำหน่ายกว่า 70 ประเทศทั่วโลกในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันธุรกิจในส่วนนี้อยู่ในการครอบครองของ เฉลิม อยู่วิทยา เป็นหลัก 

 

จากจุดนี้เองที่ธุรกิจ Red Bull   ในต่างประเทศเป็นหนึ่งในพลังหลักที่ส่งให้เฉลิม อยู่วิทยา มีทรัพย์สินย์มหาศาลถึง 9.3 แสนล้านบาท เป็นเศรษฐีอันดับ 2 จาการจัดอันดับของ Forbes เมื่อปี 2565 

 

ต่อมาในปี 2531 มีการจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ขึ้น ตามด้วยในปี 2539 ตั้งบริษัท ทีจีเวนดิ้ง แอนด์โชว์เคสอินดัสทรีส์ จำกัด ซึ่งนำนวัตกรรม ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ จากประเทศญี่ปุ่นมาติดตั้งตาม โรงงานอุตสาหกรรม และปี 2545 จัดตั้ง บริษัท เดอเบล จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าแบบครบวงจร 

 

ล่าสุดในส่วนธุรกิจในเมืองไทย ได้ยกระดับเป็นกลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วย  บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด และบริษัท เดอเบล จำกัด ภายใต้การบริหารงานของ ภาวนา หลั่งธารา (ภรรยาของเฉลียว) นั่งบัญชาการใหญ่ มี สราวุฒิ อยู่วิทยา ลูกชาย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และลูก ๆ อีก 5 คน คือ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จิราวัฒน์ อยู่วิทยา ปนัดดา อยู่วิทยา สุปรียา อยู่วิทยา และนุชรี อยู่วิทยา

 

จาก ‘แซ่โซว’ สู่ สิริวัฒนภักดี


อีกหนึ่งตระกูลเชื้อสายจีนผู้มั่งคั่ง คือ ‘สิริวัฒนภักดี’ ก็มีเส้นทางสร้างตัวไม่ต่างจากมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ ในเมืองไทย โดยผู้นำคือ เจริญ สิริวัฒนภักดี (นามสกุลเดิมศรีสมบูรณานนท์) ที่ก่อนนี้เขาใช้ชื่อจีน ว่า  โซวเคียกเม้ง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เม้ง เป็นคนจีนแต้จิ๋ว ที่ย้ายถิ่นฐานมาจาก เมืองซัวเถา อำเภอเท่งไฮ้ โดยเป็นบุตรคนที่ 2 ของนายติ่งเลี้ยง แซ่โซว และนางเซียงเต็ง แซ่แต้ มีพี่น้องทั้งหมด 11 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 5 คน

 

แรกเริ่มครอบครัวของเจริญ มีอาชีพขายหอยทอด อยู่ในซอยติดกับโรงเรียนเผยอิง ย่านจักรวรรดิ ด้วยการได้รับการเลี้ยงดูในแบบคนจีนสมัยก่อน ทำให้เจริญ เรียนจบเพียงชั้น ป.4 ที่โรงเรียนเผยอิง แต่ด้วยหัวการค้าตั้งแต่เด็ก ๆ จึงเริ่มกิจการเล็ก ๆ ของตัวเองด้วยการนำของไปขายในโรงเรียนเป็นประจำ 

 

แต่ตัดสินใจเลิกเรียนหนังสือเมื่ออายุ 11 ปี แล้วไปรับจ้างเข็นรถสินค้าและขายของตามฟุตบาท แล้วค่อย ๆ สร้างตัวด้วยความประหยัดอดออมมาเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อสมรสกับคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ทั้งสองก็ร่วมมือกันเสริมสร้างกิจการของครอบครัวให้เติบโต จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา มาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานสุรา จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมดเมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี

 

โดยได้ประมูลโรงกลั่นสุราในนามกลุ่มแสงโสม และขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าเป็นเบียร์ แอลกอฮอล์ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์  ฯลฯ ตามมาด้วยเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล กลุ่มนอร์ธปาร์ค กลุ่มพันธ์ทิพย์ กลุ่มเกษตร รวมทั้งได้เข้าลงทุนในกิจการของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ เช่น กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นต้น

 

ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของตระกูลสิริวัฒนภักดีหลัก ๆ จะอยู่ภายใต้กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (Thai Charoen Corporation Group) หรือ TCC Group ที่เดิมเริ่มจากกิจการขนาดเล็กเมื่อปี 2503 มีการเติบโตและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งครอบคลุมธุรกิจสำคัญ 5 สาย คือ ธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า ธุรกิจประกันและการเงิน ตลอดจนธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

 

ด้วยความมั่งคั่งที่สะสมมาจากธุรกิจน้ำเมาทั้งสุราและเบียร์ ที่ภายหลังได้ต่อยอดจากฝั่งอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การดูแลของ บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ควบคู่กับอีกสารพัดกิจการทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นฐานสำคัญที่ส่งให้ลูกชายของครอบครัวคนจีนที่ทำอาชีพหาบเร่ข้างทางในกรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน มาเป็นเศรษฐีอันดับสองของไทยจากการจัดอันดับโดย Forbes เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.94 แสนล้านบาท 

 

จิราธิวัฒน์ก่อเกิดจาก 'แซ่เจ็ง'

 

ต้นตระกูล จิราธิวัฒน์ เจ้าของกลุ่มห้างเซ็นทรัลภายใต้การบริหารของ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ที่เป็นเจ้าตลาดค้าปลีกมาถึงปีที่ 75 คือ 'เจ็งนี่เตียง' หรือ 'เตียง แซ่เจ็ง' ชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้ามาสร้างตัวบนแผ่นดินไทยตั้งแต่ปี 2470 และ เปลี่ยนจาก 'แซ่เจ็ง' มาเป็น 'จิราธิวัฒน์' (ตระกูลที่มีความยิ่งใหญ่วัฒนาอย่างยาวนาน) ในปี 2493

 

ครอบครัวเริ่มสร้างตัวจากการเปิดร้านกาแฟ และร้านชำเล็ก ๆ ที่ฝั่งธนบุรี จากการร่วมแรงของ เจ็งนี่เตียง ผู้พ่อและลูกชาย (สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์) จนกิจการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งนำไปสู่การริเริ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแห่งแรกในย่านวังบูรพาเมื่อปี 2499 แล้วเดินหน้าพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและขยายแตกยอดไปยังธุรกิจมากมายที่เกี่ยวเนื่องดังเช่นปัจจุบัน

 

ตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นคนจีนครอบครัวใหญ่ ที่สืบต่อมาถึงรุ่น 4 จนมีสมาชิกรวมกว่า 200 ชีวิต จาก 32 ครอบครัว จึงต้องมีการวางกติกาด้วยการใช้ “คณะกรรมการ” เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องของครอบครัวและเรื่องธุรกิจ ซึ่งที่มาของคณะกรรมการจะต้องโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของครอบครัวด้วย ซึ่งในระบบคณะกรรมการ พ่อ-แม่ หรือพี่ใหญ่ ยังคงกุมอำนาจตัดสินใจสูงสุด เพราะถือเป็นการให้เกียรติผู้อาวุโสที่ก่อตั้งธุรกิจมาช้านาน

 

นอกจากนี้ยังมี ‘สภาครอบครัว’ ซึ่งทำหน้าที่จัดการสารพัดเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในด้านต่าง ๆ ดูแลระเบียบ และการให้สวัสดิการแก่สมาชิก บริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัว (กงสี) รวมทั้งกำหนดผลประโยชน์สำหรับผู้ที่เกิดมาอยู่ในตระกูลด้วย ไม่เท่านั้นยังมีระบบแบบแผนและรายละเอียดในการดูแลสมาชิกกว่า 200 ชีวิตของตระกูลให้อยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นและสานต่อให้กิจการประสบความสำเร็จอีกมากมาย 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยเครือข่ายค้าปลีกที่แข็งแกร่ง ทำให้แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมากี่ยุคสมัย กลุ่มเซ็นทรัลก็ยังยืนหยัดจนถึงปัจจุบันและเป็นผู้พัฒนาห้างสรรพสินค้าใหญ่สุดของไทย ทำให้ตระกูลจิราธิวัฒน์ยังคงความมั่งคั่งเป็นอันดับต้น ๆ ท่ามกลางเศรษฐีชั้นนำในเมืองไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 3.73 แสนล้านบาทจากการรายงานของ Forbes 

 

อาณาจักรค้าปลีกภายใต้ CRC  ขณะนี้กุมบังเหียนโดยทายาทรุ่น 3 อย่าง ทศ จิราธิวัฒน์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร ได้แตกแยกย่อยออกเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ คือ Fashion Food Property Hardline และ Health&Wellness มีเครือข่ายค้าปลีกแข็งเกร่งบนทำเลที่ดีที่สุดและครอบคลุมเมืองหลัก 

 

แค่เฉพาะในเมืองไทยก็มีถึง 1,719 ร้านค้าใน 58 จังหวัด ยังไม่รวมอีก 123 ร้านค้าใน 41 จังหวัดของประเทศเวียดนาม และห้างสรรพสินค้า 9 สาขาใน 8 เมืองของประเทศอิตาลี จึงทำให้ถือครองร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ขายรวม 3,205,590 ตารางเมตร และพลาซ่าที่มีพื้นที่ให้เช่ารวม 693,308 ตารางเมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) 

 

แม้รายได้ของ CRC มาจากอาณาจักรค้าปลีกในไทยเป็นหลัก แต่ครอบครัวจิราธิวัฒน์ก็ยังคงมองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มพูนความมั่งคั่งขึ้นเรื่อย ๆ ที่ฮือฮาไม่น้อยคือการเข้าซื้อกิจการของ Grab ในเมืองไทย และน่าจะยังมีดีลหรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะมาเขย่าธุรกิจค้าปลีกทั้งในไทยและต่างประเทศที่ตระกูลจิราธิวัฒน์รอเปิดตัวอีกในอนาคต ส่วนจะเป็นบิ๊กดีลระดับไหน หรือ มาในรูปแบบใด ก็ต้องรอติดตาม

 

แซ่ตั้ง จุดเริ่มต้นของอาณาจักร 'สี ทีโอเอ'

 

เมล็ดพันธุ์ตั้งต้นของธุรกิจมูลค่าเกือบแสนล้านของอาณาจักร TOA หรือ บมจ. ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) เกิดจากครอบครัวชาวจีนของคุณพ่อ เป็งคุง แซ่ตั้ง และคุณแม่ กิมเกียว แซ่ลี้ จากเงินที่คุณพ่อและคุณแม่เก็บหอมรอมริบไว้ 100,000 บาท หรือประมาณ 5,000 เหรียญ เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนตั้งต้นการทำธุรกิจ 

 

ที่ต่อยอดบุกเบิกให้เติบใหญ่ขึ้นโดยสงวน (พี่ชายคนโต) ประเสริฐ และประจักษ์ ตั้งคารวคุณ (บุตรชายคนที่ 3 ของครอบครัว) ซึ่งพี่น้องทั้งหมด 7 คน (สงวน ประเสริฐ ประจักษ์ บรรเจิด อาจณรงค์ อรสา และประวิทย์) ด้วยยึดมั่นตามคำสอนของคุณแม่ ที่ลูกหลานทุกรุ่นยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และเป็นแบบอย่างที่นำไปปฏิบัติ นั่นคือ ขยัน อดทน กตัญญู ซื่อสัตย์ และต้องรู้จักตอบแทนบุณคุณแผ่นดินเกิด 

 

เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจครั้งแรกของครอบครัวตั้งคารวคุณ ด้วยการผลิตสินค้าของตัวเอง เริ่มจากการผลิตแชลแล็ค หรือน้ำมันทาไม้ตราปลาฉลาม แล็กเกอร์สำเร็จรูป ทินเนอร์และแอลกอฮอล์ และต่อมาได้ขยายธุรกิจด้วยการนำเข้า ผลิตภัณฑ์กาวลาเท็กซ์ จนนำไปสู่จุดเริ่มต้นธุรกิจในปี 2507 อย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะตัวแทนจำหน่ายสี TOA Paint  (อ่านว่า โต-อะ หรือ TOA แปลว่า เอเชียตะวันออก) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท Fujitsu , Japan นำเข้าสี Architecture Paint จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาขายในไทย 

 

ในปี 2515 ประจักษ์ ตัดสินใจแยกออกมาทำธุรกิจสีเอง โดยมีแนวคิดที่จะเป็นผู้ผลิตที่มีโรงงานผลิตสีเอง จึงตัดสินใจตั้ง บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมา และสร้างโรงงานผลิตสีแห่งแรกขึ้นบนถนนปู่เจ้าสมิงพราย (สำโรง) จ.สมุทรปราการ บนที่ดิน 5 ไร่ ปัจจุบันมีประมาณ 35 ไร่ และที่โรงงานบางนา 200 ไร่                                      

 

หลังจากนั้นได้ติดต่อ TOA ญี่ปุ่น บริษัทแม่มาร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตสีด้วยกัน แต่ด้วยในขณะนั้นไม่มีนโยบายการร่วมทุน ซึ่งกลับเป็นผลดีต่อทีโอเอในเวลาต่อมา คือ ไม่มีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจ เพราะแนวคิดหรือนโยบายไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของผู้ร่วมทุน 

 

จนถึงปี 2520 TOA ได้มีการปฏิวัติวงการสี โดยคิดค้นและผลิตสีที่ปลอดสารปรอทและสารตะกั่วได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แม้จะแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นก็ตาม และในปี 2522 ทีโอเอปฏิวัติวงการตลาดสีน้ำพลาสติก โดยการนำนวัตกรรม สีน้ำอะคริลิกแท้ 100% เทคโนโลยี ROHM&HASS จากเยอรมนีและอเมริกา มาใช้เป็นรายแรกในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้แบรนด์สี “SuperShield” 

 

จากความสำเร็จของ TOA ทำให้ตระกูลตั้งคารวคุณ ที่มีประจักษ์เป็นทั้งผู้นำและประธานกรรมการของบริษัท เพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับทั้งตัวเขาและครอบครัวไปถึง 98.6 หมื่นล้านบาท หรือเป็นเศรษฐีไทยในอันดับที่ 9 จากการรายงานของ Forbes เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 

 

ปัจจุบัน ประจักษ์ ได้มอบหมายภารกิจหน้าที่ให้กับลูก ๆ ดูแลธุรกิจในเครือ โดยให้ จตุภัทร์ ดูแลและบริหาร TOA ส่วนลูกชายคนที่สาม ณัฏฐวุฒิ ให้ดูแล TOAVH ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีโอเอ ขณะที่ วนรัชต์ ลูกชายคนโต รับผิดชอบ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนบุศทรี ลูกสาวคนสุดท้อง ก็ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท พูลผลทรัพย์ จำกัด (PPS Asset) พัฒนาโครงการภายใต้แบรนด์ The Ricco (เดอะริคโค้)

 

จากนี้เมื่อเศรษฐกิจไทยถูกหลายสำนักคาดการณ์ว่าจะเติบโตแรง จึงต้องติดตามกันต่อว่าตระกูลเหล่านี้ จะยิ่งมั่งคั่งไปอีกแค่ไหน หรือขยายธุรกิจไปยังเส้นทางใหม่ ๆ อย่างไรอีกบ้าง

 

5 ตระกูลเศรษฐีไทยเชื้อสายจีน จาก 'เสื่อผืนหมอนใบ' สู่ทรัพย์สินระดับแสนล้าน