posttoday

ไทยคม คว้าดาวเทียม 2 ชุด 797 ล้านบาท ส่วนเอ็นที 1 ชุด 9 ล้านบาท

15 มกราคม 2566

ขณะที่ พร้อม เทคนิคคอล เคาะดาวเทียมชุดที่ 2 แข่งกับไทยคม แต่ไม่สามารถชนะการประมูลได้ ทำให้มีผู้ชนะการประมูล 2 ราย 3 แพ็คเกจดาวเทียม รวมเงินส่งรัฐ 806 ล้านบาท

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ผลการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด วันที่ 15 ม.ค. 2566  พบว่า บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล 2 ชุด คือ ชุดที่ 2 และ ชุด ที่ 3 ขณะที่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ชนะ 1 ชุด คือ ชุดที่ 4

 

ส่วน บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ประมูลชุดที่ 2 แข่งกับ ไทยคม แต่ไม่ชนะการแข่งขัน ใช้เวลาในการประมูลทั้งสิ้นตั้งแต่เวลา 10.00 น.-11.36 น. เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 36 นาที ไม่รวมเวลาหยุดพักประมูล โดย 3 ชุดข่ายดาวเทียมอยู่ที่ 806,502,650 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 

 


 

 

สเปซ เทค อินโนเวชั่น ได้ดาวเทียมชุด 2 และชุด 3 รวมมูลค่า 797 ล้านบาท โดยชุดที่ 2  คือ วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 380,017,850 บาท วงโคจรให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทยให้บริการ ลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย จีน เป็นบรอดแคส เท่านั้น สามารถนำลูกค้าไทยคม 5 ที่กระจัดกระจายไปอยู่กับต่างชาติ มาเป็นลูกค้าได้ เป็นวงโคจรเดียวกับ ไทยคม 6 (บริหารโดยเอ็นที)  กับ ไทยคม 8  ของไทยคมเอง 

 

และชุดที่ 3 วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 417,408,600 บาท ไทยคมต้องดูแลลูกค้าไทยคม 4 เดิม รวมถึงต้องส่งแผนให้กสทช.ก่อน เช่น เช่าใช้กับดาวเทียมต่างชาติ 
 

 

ดาวเทียมชุดนี้ นอกจากตามเงื่อนไขประมูลที่ทุกดวงต้องทำแล้ว คือ หากเกินจาก 1 ช่องสัญญาณ หรือ 400 Mbps ต้องเปิดทางให้ภาครัฐซื้อความจุเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นดาวเทียมที่ภาครัฐใช้งานอยู่ แต่ภาครัฐต้องจ่ายค่าบริการในราคาที่สะท้อนต้นทุนและต้องแจ้งผู้ชนะการประมูลภายใน 90 วัน เพื่อให้สามารถวางแผนการสร้างดาวเทียมได้เหมาะสม

 

ขณะที่ เอ็นที ได้ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาสุดท้าย 9,076,200 บาท เป็นดาวเทียมเหมาะสำหรับให้บริการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีน ญี่ปุ่น แปซิฟิก ออสเตรเลีย แต่ยังไม่พร้อมใช้งาน ต้องดำเนินการประสานกับไอทียูต่อ คาดใช้เงินลงทุนสร้างดาวเทียม 1,000-3,000 ล้านบาท 

 

ไทยคม คว้าดาวเทียม 2 ชุด 797 ล้านบาท ส่วนเอ็นที 1 ชุด 9 ล้านบาท

ไทยคม คว้าดาวเทียม 2 ชุด 797 ล้านบาท ส่วนเอ็นที 1 ชุด 9 ล้านบาท

ไทยคม คว้าดาวเทียม 2 ชุด 797 ล้านบาท ส่วนเอ็นที 1 ชุด 9 ล้านบาท