posttoday

คลังไฟเขียว ยืดเวลาแบงก์รัฐ ลดเงินนำส่ง "กองทุน SFIF" ออกไปอีก 1 ปี

10 มกราคม 2566

คลังไฟเขียว ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ขยายระยะเวลาลดเงินนำส่งกองทุน SFIF ออกไปอีก 1 ปี จาก 0.25% เหลือ 0.125% เพื่อช่วยบรรเทาลูหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ และป้องกันหนี้เสีย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐได้เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการประคับประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของการดูแลลูกค้าเงินกู้ทั้งส่วนบุคคลและภาคธุรกิจที่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ธนาคารเฉพาะกิจอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาปรับลดเงินนำส่งเข้า กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) ของแบงก์รัฐทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จากอัตราเดิม 0.25% เหลือ 0.125% ของยอดเงินฝากที่ได้รับฝากจากประชาชน ออกไปอีก  1 ปี จนถึงสิ้นปี 66 เพื่อช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายให้แก่ลูกหนี้แบงก์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และยังไม่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด และยังป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียอีกด้วย โดยเร็วๆ นี้คลังจะเสนอให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ในการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ รอบนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้กำหนดเงื่อนไขว่าแบงก์รัฐจะต้องนำภาระเงินนำส่งที่ลดลง ไปช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนตัวจริง เพราะบางส่วนมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติแล้ว  ดังนั้น จึงไม่มีการตรึง หรือลดดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น เอ็มแอลอลาร์ เอ็มโออาร์ และเอ็มอาร์อาร์ แต่อาจเห็นมาตรการช่วยเหลือเป็นการเฉพาะมากขึ้น

 

ด้าน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า การผ่อนปรนดังกล่าว จะช่วยให้ธนาคารรัฐมีความสามารถช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มขึ้น แต่หลังจากนี้จะต้องรอดูความชัดเจนเงื่อนที่กระทรวงการคลังกำหนดก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้แต่ละแบงก์รัฐนำไปบริหารจัดการ  ช่วยลูกหนี้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ของตนเอง 

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้ลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐเบาใจได้ว่า จะไม่เห็นการขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงทีละ 0.4% เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ เพราะขณะนี้คลังได้ขยายเวลาลดเงินนำส่งให้แล้วครึ่งหนึ่ง แต่แบงก์รัฐก็อาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้บ้าง แต่จะขึ้นให้สอดคล้องตามภาวะตลาด รวมถึงจะดูแลประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง  

 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำมาตรการ 23 ช่วยเหลือลูกค้าสถานะ NPL หรือ ลูกค้าที่มีสถานะเป็น NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการช่วยเหลือ หรือ อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร ที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหา COVID-19 หรือจากภาวะเศรษฐกิจ ให้ได้รับความช่วยเหลือนานสูงสุด 2 ปี 

 

โดยลูกค้าสามารถเลือกรับความช่วยเหลือตามความสามารถในการผ่อนชำระของตนเองได้ ดังนี้

 

แนวทางที่ 1 : ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 6 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี, เดือนที่ 7-12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90 % +100 บาท, เดือนที่ 13-18 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 2.90 % +100 บาท และเดือนที่ 19-24 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% +100 บาท กรณีลูกหนี้ชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกหนี้ (ถ้ามี)
 

แนวทางที่ 2 : ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 9 จำนวน 1,500 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี, เดือนที่ 10-14 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90 % +100 บาท, เดือนที่ 15-19 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 2.90% +100 บาท และเดือนที่ 20-24 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% +100 บาท กรณีลูกหนี้ชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกหนี้ (ถ้ามี)

 

ทั้งนี้ ลูกค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วมมาตรการที่ 23 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND และสาขาธนาคารทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566