posttoday

เอกชนรวมตัวจี้รัฐ ทบทวนขึ้นค่าFT ขู่หากยังเดินหน้าจะขึ้นราคาสินค้า 5-12%

23 ธันวาคม 2565

ภาคเอกชนระดมพล ตั้งโต๊ะแถลงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าFT พร้อมเสนอให้ภาครัฐช่วยทบทวน ชี้กระทบต้นทุนสินค้า และขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ขู่หากยังเดินหน้า จำเป็นต้องขยับขึ้นราคาสินค้าในปีหน้า 5-12%

รายงานข่าวแจ้งว่า  ในวันนี้ (23 ธ.ค.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ผนึกกำลังสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมโรงแรมไทย และตัวแทนภาคธุรกิจ ร่วมกันชี้แจงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่า Ft และข้อเสนอต่อรัฐบาล

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จะกระทบต่อต้นทุนสินค้า ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในปีหน้า โดยเฉลี่ยประมาณ 5-12% ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานมากขึ้นแค่ไหน โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่มีการใช้ไฟมาก จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 9-12% อาทิ ปิโตรเคมี เหล็ก ปูนซีเมนต์

 

กลุ่มที่มีการใช้ไฟปานกลาง จะปรับขึ้นราคาราว 6-8% อาทิ ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล ยาง และกลุ่มที่ใช้ไฟน้อย จะปรับขึ้นราคาไม่เกิน 5% อาทิ ยา เครื่องสำอาง สิ่งพิมพ์ เครื่องนุ่งห่ม
 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าไฟครั้งนี้จะทำให้ไทยมีราคาค่าไฟสูงที่สุดในภูมิภาค ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีค่าไฟ 2.88 บาทต่อหน่วยและยังมีการประกาศตรึงราคาไว้อย่างต่อเนื่อง

 

ด้าน นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า มองว่าขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นค่าไฟ เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรม เพราะค่าไฟเป็นต้นทุนหลักอันดับ 2 รองจากค่าจ้างพนักงาน ประกอบกับตอนนี้ ภาคท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวด้านรายได้ หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 มานาน 3 ปี มีปัญหาหนี้สินจากการขาดทุนระยะยาว และยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่งกลับมาดีขึ้นในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ดีมานด์การเดินทางยังไม่ฟื้นตัว 100%

 

ขณะที่ซัพพลายโรงแรมที่พักยังเท่าเดิม หรือหายไปประมาณ 3-5% จากวิกฤติโควิด-19 ทั้งยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญการแข่งขันสูง ลดราคาห้องพักแข่งกันเพื่อดึงลูกค้า ไม่สามารถขึ้นราคาห้องพักตามต้นทุนที่สูงขึ้น หรือผลักภาระแก่ลูกค้าได้