posttoday

โควิด ซ้ำเติมเด็กจบใหม่ ตกงาน 2.9 แสนคน

23 ธันวาคม 2565

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โควิดซ้ำเติมเด็กจบใหม่ให้ว่างงานเพิ่มขึ้น ไตรมาส 2 ปี 64 เด็กไทยตกงานราว 2.9 แสนคน ห่วงหากคนกลุ่มนี้ตกงานนาน เสี่ยงเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น เพราะในแต่ละปี จะมีเด็กจบใหม่ไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานอีก 4-5 แสนคน มองอนาคตตลาดแรงงานไทยยิ่งน่ากังวล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานผ่านบทความ  "Youth unemployment : ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุค COVID-19" โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ตลาดแรงงานของเด็กจบใหม่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมาระยะหนึ่งแล้ว และยังถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด โดยตัวเลขการว่างงานของเด็กจบใหม่ หรือการว่างงานของกลุ่มเยาวชนในช่วงอายุ 15-24 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากภาวะปกติเกือบแสนคน สะท้อนถึงปัญหาของตลาดแรงงานเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่จะเป็นแรงงานมีฝีมือในระยะข้างหน้า 

 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การวางงานในกลุ่มเด็กจบใหม่ของไทยอยู่ในระดับสูง อาทิ 

 

1. เกิดจากตำแหน่งงานว่างไม่สอดคล้องกับทักษะ วุฒิการศึกษา ค่าธรรมเนียม  

 

(1.) ความต้องการแรงงานส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคเป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐาน อาทิ แรงงานทั่วไป แม่บ้าน และเน้นวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี สะท้อนปัญหา คนมีระดับวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับงาน 

 

(2) บางบริษัทขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อาทิ โปรแกรมเมอร์ Data Scientist ซึ่งค่อนข้างหายากในภูมิภาค โดยเป็นสาขาที่คนจบมาน้อย 

 

(3.) เด็กจบใหม่บางส่วนจึงนิยมออกไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้า และบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.6 หมื่นคนในปี 2562 เป็น 5.6 หมื่นคนในปี 2564

 

2. ธุรกิจมีแนวโน้มลดการพึ่งพาการใช้คน และลงทุนในเทคโนโลยี ดิจิทัลมากขึ้น 

 

(1.) บางบริษัทมีการปรับลดจำนวนพนักงาน โดยบางส่วนให้พนักงานทำหลายหน้าที่มากขึ้น และนำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน

 

(2.) ตลาดแรงงานมีการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้เด็กจบใหม่มีโอกาสได้รับการเข้าทำงานยากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่เคยมีประสบการณ์ทำงาน

 

การว่างงานของเด็กจบใหม่ มีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะการเกิดช่องว่างของทักษะการทำงาน  หากคนกลุ่มนี้ว่างงานยาวนาน 2-3 ปี จะยิ่งส่งผลให้เข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น ประกอบกับยังมีกลุ่ม เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานราวอีก 4-5 แสนคนในแต่ละปี 3 ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตยิ่งน่ากังวลมากขึ้น

 

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด กระทบต่อตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ โดยจำนวนเด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปี 2564  ที่มีจำนวนถึง 2.9 แสนคน โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา แม้ปัจจุบันการว่างงานโดยรวม จะทุเลาลงบ้าง แต่ยังสูงกว่าระดับเฉลี่ยก่อนการระบาดของโควิด 

 

ทั้งนี้ จากข้อมูล Google trend ยังพบว่า ความสนใจในการค้นหางานของเด็กจบใหม่ซึ่งยังไม่สามารถหางานทำได้ หรือตกงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงที่โควิดระบาดหนัก โดนหากมองในสาขาที่ยังมีจำนวนผู้ว่างงานสูงที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด ได้แก่ ภาคบริการและการค้า โดยเฉพาะในกทม. ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เด็กจบใหม่ไทยเลือกศึกษา จึงอาจซ้ำเติมปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่มากขึ้น อีกทั้งแต่ละสาขา โดยเฉพาะภาคการค้าและบริการยังจำเป็นต้องใช้เวลาฟื้นตัว จึงยิ่งมีแนวโน้มหางานได้ยากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การว่างงานของเด็กจบใหม่ไม่ได้เป็นปัญหาที่พบแค่ในไทย แต่หลายประเทศเกิดขึ้นก่อนไทย อาทิ สิงคโปร์ เยอรมนี และเกาหลีใต้ 

 

สำหรับไทย ภาครัฐมีมาตรการแก้ปัญหาการว่างงานในกลุ่มเด็กจบใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาคุณภาพแรงงาน และการจัดหางานและในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด รวมทั้งได้ออกมาตรการเพิ่มเติม อย่างโครงการ Co-payment ที่มีการสนับสนุนค่าจ้างไม่เกิน 50% ให้กับนายจ้างที่จ้างเด็กจบใหม่ตามวุฒิการศึกษา และการจ้างงานจากหน่วยงานภาครัฐในลักษณะสัญญาชั่วคราว 1 ปี 6 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ปัญหาดังกล่าวของไทยปรับดีขึ้น สอดรับกับช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้า ประสบการณ์จากต่างประเทศที่ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวก่อนไทย สะท้อนว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่จะยังคงเป็นประเด็นของตลาดแรงงานไทยไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งภาครัฐได้เตรียมรับมือโดยมีมาตรการระยะยาว อย่างการผลักดันการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC และขยายผลโครงการ E-Workforce Ecosystem  รวมทั้งนำแนวทางการแก้ปัญหาของหลายประเทศมาปรับใช้ เพื่อช่วยเสริมสร้างให้แรงงานไทยพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว