posttoday

สศช. ชี้ ท่องเที่ยวฟื้น ดันจ้างงานเพิ่มขึ้น ว่างงานลดลง แนะจับตา NPL พุ่ง

14 ธันวาคม 2565

สศช. เผยภาวะสังคมไตมาส 3 ปี 2565 พบการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง อนิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว แนะเฝ้าระวังการเพิ่มของ NPL ห่วงคนกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไป หลังพบหนี้เสียพุ่ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า สถานการณ์การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการจ้างจำนวน ทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ที่ 4.3% หรือมีการจ้างงาน 27.2 ล้านคน โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นคือ สาขาค้าส่งค้าปลีก 4.5% และโรงแรมและภัตตาคาร 8.3% ที่เป็นผลของการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นใน ช่วงไตรมาส 3 ปี 2565

ขณะที่ ภาคเกษตรกรรม มีการจ้างงาน 12.4 ล้านคน ลดลง 2.4% จากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ที่ผ่านมา ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ หรือช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวม และภาคเอกชนอยู่ที่ 42.5 และ 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลา มีจำนวน 6.8 ล้านคน และผู้เสมือนว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ

ส่วน ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัว โดยค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชน หดตัว ร้อยละ1.7 และค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมหดตัวถึงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.23 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.99 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป อาทิ

มาตรการดูแล บรรเทาภาระค่าครองชีพของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ จากค่าจ้างที่แท้จริง ที่หดตัวลง จากผลกระทบของเงินเฟ้อในระดับสูง 

การเร่งช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน ที่มีเกษตรกรรวมกันมากถึง 8.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเกษตรกรยากจนจำนวน 8.9 แสนคน ซึ่งอาจได้รับความเสียหายที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่น

การสนับสนุนให้ผู้ว่างงานเข้าสู่ระบบ การอบรมและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ผลสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยเดือนกันยายน ปี 2565 พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน

หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2565 ขยายตัวชะลอลง ส่วนคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ต้องเฝ้าระวังสินเชื่อยานยนต์ และติดตามผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาอุทกภัย และลูกหนี้เสีย ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จำเป็นต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อยานยนต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระ
น้อยกว่า 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสสอง ปี 2565
ยังพบว่า กลุ่มลูกหนี้อายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ และลูกหนี้ NPLs จากผลกระทบของ COVID-19 ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสที่ 2/2565 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 จำนวน 4.3 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 3.96 แสนล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19 จำนวน 2.7 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 2.2 แสนล้านบาท