posttoday

สามทศวรรษของปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยและความท้าทายใหม่

23 กันยายน 2563

บทความ โดย...ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ได้รับความสนใจมาโดยตลอด แม้ตัวเลขทางการจากสำนักงานพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) จะแสดงว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคในภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ข้อสรุปนี้ยังเต็มไปด้วยข้อกังขาที่ว่า ความเหลื่อมล้ำลดลงจริงหรือ เรายังเห็นคนรวยทานอาหารร้านแพง ๆ ขับรถหรู ขณะที่คนจนจำนวนมากต้องหาเช้ากินค่ำ บทความนี้เจาะลึกลงไปในดัชนีความเหลื่อมล้ำดังกล่าว และนำเสนอมุมมองว่าทำไมตัวเลขของทางการถึงได้ดูขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไป ทิศทางของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะไปทางไหน และการมาเยือนของโควิด-19 กำลังตอกย้ำความเหลื่อมล้ำมากเพียงใด

งานชิ้นนี้วิเคราะห์มุมลึกของความเหลื่อมล้ำผ่านข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ตั้งแต่ปี 2531 – 2562 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ สศช. ใช้จัดทำดัชนีความเหลื่อมล้ำ และประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่าน ข้อมูล SES และข้อมูลการสำรวจภาวะตลาดแรงงาน (LFS) ในครึ่งปีแรกของปี 2563 เราพบว่า แม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคในภาพรวมจะลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจัยหลายประการที่ช่วยลดตัวเลขความเหลื่อมล้ำนั้นดูจะไม่ยั่งยืนและทำให้น่ากังวล ได้แก่

ประการแรก สำหรับครัวเรือนสูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มที่หัวหน้าครอบครัวอายุ 55 ปีขึ้นไปนั้น มีแนวโน้มที่จะพึ่งพาเงินโอนมากขึ้น หากขาดรายได้จากเงินโอน ระดับความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ของคนกลุ่มนี้ก็จะไม่ลดลง และด้วยความที่เงินโอนส่วนใหญ่มาจากเงินช่วยเหลือจากญาติพี่น้องนอกครัวเรือนมากกว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐ การพึ่งพาเงินโอนจึงเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเงินช่วยเหลือนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ และการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยของไทย แปลว่าเรากำลังมีครัวเรือนสูงอายุมากขึ้น และครัวเรือนรุ่นหลังมีบุตรหลานน้อยลง ก็ยิ่งทำให้การพึ่งพาลูกหลานทำได้ยากลำบากขึ้น

สามทศวรรษของปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยและความท้าทายใหม่

ประการที่สอง มองลงลึกที่ตัวรายได้จากการทำงานจึงพบว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนเกษตรกรรมมีระดับสูงขึ้น ซึ่งอาจมิได้สะท้อนในดัชนีตัวรวม นั่นเพราะสัดส่วนของภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงมากในสามทศวรรษที่ผ่านมา และความเหลื่อมล้ำของรายได้นอกภาคเกษตรได้ลดลง อย่างไรก็ดี การลดลงของความเหลื่อมล้ำนอกภาคเกษตรนั้นเป็นเพราะการลดลงของความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนที่มีระดับการศึกษาเดียวกัน โดยเฉพาะคนจบมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า แต่ความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ของคนที่มีระดับการศึกษาต่างกัน ไม่ได้ลดลงมากนัก

ประการที่สาม ความเหลื่อมล้ำด้านการบริโภคในภาพรวม มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ แต่สำหรับครัวเรือนรายได้ต่ำ ค่าใช้จ่ายหลักเป็นค่าใช้จ่ายในสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนรายได้ต่ำมีความเปราะบางสูง หากสูญเสียรายได้ ก็ต้องกู้ยืมหรือลดการบริโภคสินค้าที่จำเป็น

ประการที่สี่ โควิด-19 กระทบครัวเรือนไทยแบบกระจุก อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและชั่วโมงการทำงานที่ลดลงพบมากในกลุ่มแรงงานที่อยู่ในกิจการที่ถูกสั่งปิดชั่วคราว ซึ่งมักเป็นแรงงานนอกภาคการเกษตรที่มีรายได้ต่ำ ซ้ำนั้น ครัวเรือนรายได้สูงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดมากนัก ยังสามารถประหยัดรายจ่ายได้มากขึ้นในช่วงโควิดนี้ เพราะมีเงินเหลือเก็บจากบริการต่าง ๆ ที่ลดไป เช่น ท่องเที่ยว ซึ่งก็หมายความว่า โควิด-19 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทั้งทางรายได้และทางเงินออม

ความน่ากลัวของภัยโควิดต่อความเหลื่อมล้ำอาจจะมากกว่าภาพที่เห็น ในช่วงครึ่งปีแรกมีลูกจ้างจำนวนมากที่ยังมีงานทำแต่โดนลดชั่วโมงทำงาน และไม่แน่ว่าลูกจ้างกลุ่มนี้ บางส่วนอาจจะถูกเลิกจ้างถาวร การสูญเสียรายได้ในช่วงว่างงานส่งผลให้ครัวเรือนลดค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจรวมถึงการสนับสนุนการศึกษาของบุตรและเงินโอนช่วยเหลือญาติพี่น้อง หากมิได้กลับมาทำงานในระบบ ก็จะสูญเสียสิทธิในการเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ส่งผลต่อความมั่นคงและเงินออมเพื่อวัยเกษียณ

ท้ายนี้ ดัชนีความเหลื่อมล้ำในภาพรวมเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ คงจะพึ่งมาตรการเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่รัฐจำเป็นต้องเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเท่าเทียม หาวิธีเพิ่มผลิตภาพในตลาดแรงงาน รวมถึงสร้างกลไกหรือกระตุ้นให้คนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้นหลังเกษียณ