posttoday

ธ.ก.ส. ประเดิมออกกรีนบอนด์2หมื่นล้าน

25 กรกฎาคม 2563

ธ.ก.ส. ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ระดมทุนเพื่อใช้ส่งเสริมการปลูกป่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. จะรออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond ของ ธ.ก.ส. Bond วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ในปีบัญชี 2563 - 2567 โดยในปีบัญชี 2563 ธ.ก.ส. กำหนดออก Green Bond ในวงเงิน 6,000 ล้านบาท เสนอขายต่อนักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 10 ราย ในรอบระยะเวลา 4 เดือนใดๆ

โดยการออก Green Bond ดังกล่าวดำเนินการภายใต้มาตรฐานสากล คือ มาตรฐาน ICMA GBP และมาตรฐาน ASEAN GBS ซึ่งเงินทุกบาทจะนำไปลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบูรณาการร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการป้องกันและควบคุมมลพิษ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างยั่งยืน การจัดการน้ำเสียอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และพลังงานหมุนเวียน

"ธ.ก.ส. มุ่งดำเนินงานเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารในการพัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากร่วมกับภาคีเครือข่ายในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green" นายอภิรมย์ กล่าว

ในส่วนของโครงการที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการจะมุ่งเน้นการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ การปลูกไม้เพื่อการออม รูปแบบวนผลิตภัณฑ์ รูปแบบวนเกษตร และการปลูกไม้เศรษฐกิจ ภายใต้การสนับสนุนสินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ สินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด สินเชื่อรายคน (เกษตรผสมผสาน) สินเชื่อ SMAEs และสินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการภาคเกษตร ตลอดจนโครงการพัฒนาต่าง ๆ อาทิ โครงการปลูกป่า (กรมป่าไม้) โครงการป่าครอบครัว (BEDO) โครงการโคก หนอง นา (กรมพัฒนาชุมชน) โครงการปลูกป่าสร้างรายได้ต้นน้ำ 11 จังหวัด โครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจร่วมกับบริษัทเอกชน และโครงการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 500,000 ไร่ มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านต้น โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมูลค่ารวมของต้นไม้ 400,000 ล้านบาท มูลค่าจากการเก็บของป่าขาย 1,130 ล้านบาทต่อปี สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 950,000 ล้านตันต่อปี มูลค่าคาร์บอนเครดิต 95 ล้านบาทต่อปี มูลค่าระบบนิเวศบริการ 89,737.48 บาทต่อไร่ต่อปี และเกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 38,000 ครัวเรือน อีกทั้งเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 155,000 ราย