posttoday

เงินเฟ้อเดือนเม.ย.ดิ่งต่ำสุดรอบ10ปี 9 เดือน ตามราคาน้ำมันร่วง

05 พฤษภาคม 2563

‘พาณิชย์’ ระบุไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้คาดการณ์เงินเฟ้ออาจติดลบติดต่อกัน 3 เดือน พิษโควิดฉุดกำลังซื้อ หวังมาตรการัฐฟื้นการใช้จ่ายในประเทศ ลุ้นไตรมาส 4 เงินเฟ้อผงกหัว

น.ส.พิมพ์ชนก  วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  กระทรวงพาณิชย์   เปิดเผยถึง  สถานการณ์สินค้าและบริหารเดือนเม.ย. 2563  พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.99 (YoY) ปรับตัวลดลงแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการที่ลดลงจากมาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19  โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างร้อยละ (-1.0) – (-0.2) (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6)  

ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสดโดยรวม ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ในอัตราที่ชะลอลงตามความต้องการที่หายไปบางส่วน  จากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.41 (YoY) (ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.54) เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.- เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 0.44  และ เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.50

ทั้งนี้การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  เป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ดังนั้น หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น น่าจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในปีนี้ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในสถานการณ์หลังโควิด-19 (Post Covid-19)

“ส่วนข้อกังวลในเรื่องจะเกิดภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น เงินเฟ้อปีนี้จะติดลบร้อยละ 0.2-1  จากการประเมินภาพรวมเงินเฟ้อเดือนพ.ค.นี้ยังมีโอกาสติดลบแต่ไม่มาก ส่งผลให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งตามสูตรคำนวณเงินเฟ้อหากติดลบติดต่อเช่นนี้จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ข้อเท็จจริงเงินฝืดจะเกิดจากภาวะสินค้าโดยรวมต้องลดลงมาก แต่ขณะนี้สินค้าอุปโภคและบริโภครวมถึงสินค้าภาคการเกษตรไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อยู่ในภาวะทรงตัว ทำให้มองว่าแม้เงินเฟ้อจะติดลบติดต่อกันก็เป็นเพียงจากปัจจัยผลกระทบจากโควิด-19 และราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงไปมาก”

นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 ยังมีโอกาสติดลบไปถึงร้อยละ 2.28 และน่าจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 หลังจากแนวโน้นการดูแลควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่สามารถจัดการดูแลได้เป็นอย่างดีน่าจะทำให้โอกาสการเปิดดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ทำได้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแนวทางกระตุ้นภาคธุรกิจของรัฐบาลที่จะออกมาน่าจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศกลับมาดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยในระบบ ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 จะกลับมาดีขึ้นเช่นกัน โดยปีนี้จะคาดหวังจากการท่องเที่ยวคงลำบากและสิ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้ คือ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการกินของไทยใช้ของไทยและใช้มาตรการผ่อนปรนให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อมด้วยมาตรการด้านภาษีเป็นหลัก.

น.ส.พิมพ์ชนก  กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค. 2563  ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ (ทั้งจากด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน) โดยสถานการณ์ราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากการตกลงเพื่อลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มได้ข้อยุติ และความต้องการใช้น้ำมันของประเทศจีนและบางประเทศ ที่เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติหลังสถานการณ์โควิด–19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย

ในขณะที่ ภัยแล้งอาจส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด ทำให้ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แต่จะถูกลดทอนด้วยปัจจัยด้านอุปสงค์ ที่ลดลงและฐานราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่สูงมากในปีก่อน โดยรวมแล้วราคาในเดือนพ.ค. 2563 น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง