posttoday

‘พาณิชย์’เลิกห่วงสินค้าขาดของแพงช่วงโควิด เกาะติดผู้ผลิต ส่ออ่วมกำลังซื้อลด ต้นทุนพุ่ง ส่งออกลด

03 พฤษภาคม 2563

"พาณิชย์”ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าและบริการ การซื้อขายทิศทางดีขึ้น ด้านภาคการผลิตยังน่าเป็นห่วง อัตรากำลังผลิตเหลือ ยอดขายตก ต้นทุนขนส่งพุ่ง ขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่วงนำเข้าวัตถุดิบล่าช้า จนถึงขั้นขาดแคลน ด้านการส่งออกลดลงหลังประเทศคู่ค้าปิดเมือง

น.ส.พิมพ์ชนก  วอนขอพร   ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 22-28 เม.ย. 2563 จากการสำรวจในพื้นที่และสอบถามจากผู้ประกอบการ พบการซื้อขายมีทิศทางที่ดีขึ้น ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และราคายังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยอาหารสดส่วนใหญ่ปรับราคาเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่แปรปรวน และปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่ราคาทรงตัว และบางรายการเคลื่อนไหวตามการจัดโปรโมชั่น สินค้าอนามัย (เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ) มีจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการ ด้านหน้ากากอนามัย ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่หันไปใช้หน้ากากผ้าทดแทน

ขณะที่ภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ และมีอัตรากำลังการผลิตเหลืออยู่ แต่ความต้องการซื้อชะลอตัวและยังคงมีปัญหา/อุปสรรคในด้านสภาพคล่อง ต้นทุน การขนส่ง และแรงงานอยู่ ภาคการผลิตและจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง มีการปรับลดอัตรากำลังการผลิต ตามคำสั่งซื้อและการก่อสร้างที่ชะลอตัว สำหรับภาคการส่งออก ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง และทรงตัว ยกเว้น สินค้าในกลุ่มผลไม้สด และปลาแปรรูป มีแนวโน้มสูงขึ้น

สำหรับสถานการณ์ราคาและการผลิตยังไม่น่าเป็นห่วง ส่วนการบริโภคของประชาชน ไม่พบว่ามีการตื่นตกใจซื้อของไปเก็บจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มลดลงจากมาตรการปิดประเทศของประเทศคู่ค้า และปัญหาการขนส่งเป็นสำคัญ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับรัฐบาลจีน เพื่อให้เปิดด่านขนส่งสินค้าอีก 2 ด่าน คือ ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านตงซิง ซึ่งสินค้าไทยโดยเฉพาะผลไม้จะสามารถส่งผ่านด่านดังกล่าวไปทางเวียดนามได้เพิ่มเติม รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยกลุ่มต่าง ๆ ค้าขายผ่านทางออนไลน์ได้มากขึ้นต่อไป

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการให้รัฐช่วยด้านสภาพคล่อง การชดเชยรายได้ การลดต้นทุน เช่น ลดค่าไฟฟ้า และให้หาทางขยายการส่งออกทางช่องทางอื่น ๆ เช่น ทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งหลายอย่าง ภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้ว แต่อาจจะมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาเสริมได้ และขณะนี้ ได้เริ่มมีการผ่อนคลายการ lock down บางส่วน ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้นได้ในเวลาต่อไป

‘พาณิชย์’เลิกห่วงสินค้าขาดของแพงช่วงโควิด  เกาะติดผู้ผลิต ส่ออ่วมกำลังซื้อลด ต้นทุนพุ่ง ส่งออกลด

ทั้งนี้จากการโทรศัพท์สอบถามผู้ประกอบการจำนวน 50 ราย ในสินค้าสำคัญ 15 รายการ เช่น ข้าวหอมมะลิ ไก่สด/แช่เย็นแช่แข็ง ไข่ไก่ อาหารทะเล สุกรมีชีวิต ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม นม/นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม อาหารสัตว์ เป็นต้น ในส่วนของสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร พบว่า ภัยแล้งและอากาศร้อนส่งผลให้ปริมาณผลผลิต ข้าว และไข่ไก่ลดลง อาหารทะเล (ปลาและหมึก) สด/แช่เย็นแช่แข็ง ปลากระป๋อง และอาหารสัตว์ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและการขนส่งล่าช้า เนื่องจากมาตรการ Lock Down ของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผ้าอนามัย และสารซักฟอก มีความกังวลเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบที่ล่าช้า และอาจจะขาดแคลน ผู้ผลิตบางรายจึงใช้การขนส่งทางอากาศแทน ส่งผลให้ต้นทุนปรับสูงขึ้น

ส่วนการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ส่วนใหญ่ปรับลดอัตรากำลังการผลิต ตามคำสั่งซื้อและการก่อสร้างที่ชะลอตัว จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย ซึ่งทำให้ยอดจำหน่ายชะลอตัว ประกอบกับยังไม่มีการประมูลโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ และคาดว่าหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ภาครัฐจะเร่งขับเคลื่อนให้มีการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างให้ฟื้นตัวได้โดยเร็ว