posttoday

เสนอ"คมนาคม"สร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ 6 เส้นทาง

01 พฤษภาคม 2561

ไจก้าเปิดผลการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเฟสสอง 6 เส้นทาง เชื่อมต่อสถานีหลักรองรับการเดินทางรอบเมืองหลวง

ไจก้าเปิดผลการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเฟสสอง 6 เส้นทาง เชื่อมต่อสถานีหลักรองรับการเดินทางรอบเมืองหลวง

กระทรวงคมนาคมเปิดเผยผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเมืองหลวง ระยะที่ 2 (M-MAP2) ระบุว่า เส้นทางที่ควรจะพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเฟส 2 เพื่อแก้ปัญหารถติดและรองรับการขยายตัวของเมืองหลวงมีทั้งสิ้น 6 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.รถไฟฟ้าช่วงรังสิต-ธัญบุรี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีรังสิต

2.รถไฟฟ้าช่วงรามอินทรา-ลำลูกกา เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ลำลูกกา และเชื่อมรถไฟฟ้าสีเทาช่วงรามอินทรา-เอกมัย ที่สถานีรามอินทรา

3. รถไฟฟ้าช่วงบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่สถานีสุวรรณภูมิ และเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีบางนา

4.รถไฟฟ้าช่วงพญาไท-สถานีแม่น้ำ-บางนา

5.รถไฟฟ้าช่วงสถานีมักกะสัน-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสาย สีน้ำตาลและสายสีเขียวที่บริเวณสี่แยกเกษตร

6.รถไฟฟ้าเชื่อมสถานีหลักช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน-นนทบุรี-บางกะปิ เป็นเส้นทางแบบวงกลมเชื่อมการเดินทางรอบนอกเมืองหลวง

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไจก้าได้เสนอเป็นหลักการเบื้องต้นให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอรัฐบาลเพื่อรองรับแนวโน้มปริมาณการเดินทางในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือในปี 2580 ที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ตามการขยายตัวประชากรเมืองหลวงไปยังปริมณฑล 5 แห่ง ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม

ทั้งนี้ ปัจจุบันตัวเลขผู้โดยสารต่อเที่ยวต่อเส้นทางในชั่วโมงเร่งด่วนอยู่ที่ 6.8 หมื่นคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.57 แสนคน/ชั่วโมง/เส้นทาง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 ได้ทำการศึกษาไปแล้ว 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้ จากนั้นในปี 2562 จะเริ่มสำรวจแนวเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ มั่นใจว่าสามารถออกแผนแม่บทได้ภายในรัฐบาลนี้ และจะส่งมอบแผนให้กับรัฐบาลชุดต่อไปศึกษาความเหมาะสมและก่อสร้างต่อไป

นายอาคม กล่าวอีกว่า หากโครงการใดได้ข้อสรุปและสามารถดำเนินการก่อนได้ก็จะเร่งดำเนินการให้สามารถเปิดให้บริการเชื่อมต่อโครงการให้สมบูรณ์เร็วขึ้น ซึ่งกรอบระยะเวลาการดำเนินการในปี 2562 จะสำรวจรายละเอียดแนวเส้นทางปี 2563 กำหนดแนวเส้นทาง จากนั้นสรุปข้อมูล รวมถึงศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและอนุมัติโครงการ และภายในปี 2564-2565เริ่มต้นการก่อสร้าง

“เป้าหมายการพัฒนารถไฟฟ้าระยะที่ 2 เน้นเชื่อมต่อการขนส่งทุกรูปแบบ ทั้งรถเมล์ เรือโดยสาร และท่าอากาศยาน โดยเฉพาะพื้นที่บางซื่อ มักกะสัน และสถานีแม่น้ำ” นายอาคม กล่าว