posttoday

ทุเรียนไทยโตอีกไกล! แนะยึดคุณภาพ–อย่าโลภมากตัดราคากันเอง

22 เมษายน 2561

ขายทุเรียนออนไลน์ 8 หมื่นลูก ใน 1 นาที โอกาสทองชาวสวนไทยบุกตลาดจีนด้วยพลัง "อาลีบาบา" แนะยึดคุณภาพ-อย่าโลภตัดราคากันเอง

ขายทุเรียนออนไลน์ 8 หมื่นลูก ใน 1 นาที โอกาสทองชาวสวนไทยบุกตลาดจีนด้วยพลัง "อาลีบาบา" แนะยึดคุณภาพ-อย่าโลภตัดราคากันเอง

---------------------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

การมาเยือนไทยของ แจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบาได้มีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการเปิดตัวแคมเปญส่งเสริมการขายทุเรียนของไทยผ่านเว็บไซต์ Tmall.com ของเครืออาลีบาบา เว็บไซต์ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในจีนและเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 1,400 ล้านคนทั่วประเทศอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

ปรากฏว่าวันนั้นทุเรียนหมอนทองไทยได้รับความสนใจจากชาวจีนเป็นจำนวนมาก สร้างยอดขายผ่านเว็บไซต์Tmall.com ได้สูงถึง 80,000 ลูกภายในเวลาเพียง 1 นาที โดยขายในราคา 990 บาทต่อน้ำหนัก 5 กิโลกรัม 

ยึดถือคุณภาพ-อย่าโลภมากตัดราคากันเอง

ภายหลังกระแสความนิยม กมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) บอกว่า สิ่งที่เกษตรกรไทยผู้ผลิตต้องตระหนักคือการควบคุมและยกระดับคุณภาพ อย่าคิดเพียงแค่ปริมาณเท่านั้น

“การเข้ามาของอาลีบาบาเป็นเรื่องที่ดีแน่นอนเพราะตลาดในจีนนั้นใหญ่มาก จากจำนวนประชากรนับพันล้านคน ขอเพียงแค่ 1 เปอร์เซนต์ก็นับล้านแล้ว ปัญหาหลักที่อยากสื่อคือต้องผลิตสินค้าในเชิงคุณภาพ ถ้าผลิตอย่างมีคุณภาพแล้ว ผมเชื่อว่าทุเรียนในเมืองไทยเราอร่อยทุกที่ และเชื่อว่าอร่อยที่สุดในโลกด้วย”

กมลวิศว์ ย้ำกว่าคุณภาพนั้นเป็นความยั่งยืน อย่ามักง่ายมองเห็นความต้องการจำนวนมาก แล้วละเลยคุณภาพ จนทำให้ความสำเร็จกลายเป็นเพียงเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว

“ชาวสวน ภาครัฐต้องเน้นคุณภาพ เป็นโอกาสดีของเราแล้ว อย่าทำลาย ถ้าผลิตของไม่มีคุณภาพไปขายปีหน้าก็เจ๊ง ความต้องการมากขนาดไหนก็ตาม ต้องมีคุณภาพถึงจะขายได้อย่างยั่งยืน ยาวนาน เราอย่าไปโลภมาก เห็นราคาดีแล้วรีบขาย เอาเยอะไว้ก่อน อย่าไปเร่งใช้สารเคมี เร่งยา เอาทุเรียนอ่อนไปขาย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ มีเท่าไหร่ขายเท่านั้น ตลาดทุเรียนยังไปได้อีกไกล”

ผู้อำนวยการ อตก.บอก บอกว่า การเข้ามาของจีนไม่ใช่เรื่องน่ากังวล ตราบใดที่ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดยังเป็นเกษตรกรไทย โดยวิธีการสำคัญคือ การรวมตัวอย่างแข็งแกร่งของกลุ่มผู้ผลิตและมีแนวทางการค้าขายที่ชัดเจนเพื่อคงอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า

“เกษตรไทยต้องรวมกลุ่มกัน ใจแข็ง อย่าขายตัดราคากันเอง ผลิตสินค้ามีคุณภาพทั้งเพื่อคนไทยเองและส่งออก เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า ยังไงเขาก็ต้องการสินค้าเราอยู่แล้ว”

สำหรับปี 2561 กมลวิศว์ คาดว่าราคาทุเรียนจะปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของพายุฤดูร้อนในภาคตะวันออกที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตไม่น้อย

ทุเรียนไทยโตอีกไกล! แนะยึดคุณภาพ–อย่าโลภมากตัดราคากันเอง

ส่งออกมาก-ราคาในประเทศขึ้น-เกษตรกรรวย

วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สาธารณสุขและการเกษตร บอกว่า ความนิยมทุเรียนในประเทศจีนจะส่งผลต่อราคาในประเทศไทยตามกลไลตลาดและทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ความต้องการเพิ่มราคามันก็ขึ้น เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ผลิตอย่างเกษตรกรไทย ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาเรากินทุเรียนในราคากิโลกรัมละมากกว่า 100 ร้อยบาท จากสมัยก่อนที่ 40-50 บาท การส่งออกมาขึ้นกระทบต่อราคาในประเทศอยู่แล้วตามกลไกตลาด และถ้าเราอยากให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องมีรายจ่ายมากขึ้นเช่นกัน”

ถึงแม้ความนิยมและความต้องการในต่างประเทศจะส่งผลให้ราคาในประเทศขยับสูงขึ้น อย่างไรก็ตามวิโรจน์บอกว่า รัฐไม่ควรไปควบคุมราคาเนื่องจากเป็นผลลบต่อเกษตรกร

“คนไทยชอบบอกอยู่บ่อยๆ ว่าต้องการให้เกษตรกรไม่ยากจน ฉะนั้นไม่ควรไปควบคุมราคาให้ต่ำ การควบคุมราคาให้ต่ำเป็นการทำโทษเกษตรกร เช่นกันกับการเข้ามาของพ่อค้าชาวต่างชาติ ถ้าเข้ามาแล้วทำให้พ่อค้าไทยเจ๊งแต่เกษตรกรได้ประโยชน์ ผมคิดว่าก็ทำไปสิ พื้นฐานเลยคือเกษตรกรต้องได้ประโยชน์”

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2559 ระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนในทุกภูมิภาคของประเทศ นับเฉพาะพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตมี 5.8 แสนไร่ โดย จ.จันทบุรี มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดจำนวน 203,170 ไร่ ให้ผลผลิต 187,000 ตัน

รองลงมาจ.ชุมพร มีพื้นที่ปลูก 148,130 ไร่ให้ผลผลิต 199,000 ตัน และจ.ระยอง มีพื้นที่ปลูก 66,280 ไร่ ให้ผลผลิต 59,000 ตัน

ด้านการส่งออก ข้อมูลกรมศุลกากรระบุว่าในปี 2559 มีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 19,923 ล้านบาท แยกเป็นทุเรียนสด 17,469 ล้านบาท ทุเรียนแช่แข็ง 2,173 ล้านบาท และทุเรียนอบแห้ง 282 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลักคือสาธารณรัฐประชาชนจีนประมาณกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของตลาดส่งออกทั้งหมด

ทุเรียนไทยโตอีกไกล! แนะยึดคุณภาพ–อย่าโลภมากตัดราคากันเอง

ทำไมคนจีนชอบกินทุเรียนไทย

คุณหัว กับ คุณหลิว นักท่องเที่ยวชาวจีนให้สัมภาษณ์ว่า เมืองจีนมีการผลิตทุเรียน แต่ผลผลิตที่ได้นั้นสู้เมืองไทยไม่ได้ โดยเฉพาะในแง่ของรสชาติที่แตกต่างกันสิ้นเชิง น่าจะมีสาเหตุจากสภาพภูมิประเทศและปัจจัยแวดล้มอื่นๆ

“ในตลาดเมืองจีน ผลไม้ชนิดไหนถ้าบอกว่ามาจากเมืองไทยนะ โอ้โห เรามั่นใจได้ว่าอร่อยแน่นอน รสชาติดีมาก ถ้าใครเคยไปกินทุเรียนเมืองจีนจะรู้เลยว่าทำไมคนจีนชอบของไทย อร่อย กรอบ เนื้อเยอะ เม็ดเล็ก ของจีนเม็ดใหญ่ เนื้อน้อยนิ่มยุ่ยเกินไปเหมือนของที่เน่าเสียแล้ว”

ทั้งคู่บอกว่า คนจีนเชื่อถือในคุณภาพของผลไม้ไทยมาก และนึกถึงเป็นลำดับแรกๆ เมื่อเข้ามาท่องเที่ยว

“แน่นอนเวลามาเมืองไทย เราต้องหาซื้อผลไม้ ที่เราชอบมากที่สุดคือ ทุเรียน มะม่วง มะพร้าวและมังคุด”

กมลวิศว์ ผู้อำนวยการ อตก. ทิ้งท้ายว่า ความอร่อยของทุเรียนไทยเกิดจากความสมบูรณ์และปัจจัยด้านภูมิประเทศที่เหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับทะเลและแม่น้ำ ซึ่งได้รับกลิ่นอายของความเค็ม ส่งผลต่อรสชาติและคุณภาพของทุเรียน เมื่อรวมกับภูมิปัญญาและนวัตกรรมที่เกษตรกรสั่งสมพัฒนาเรื่อยมา ทำให้ทุเรียนไทยอร่อยกว่าที่ไหนๆ ในโลก