posttoday

‘โฮจิมินห์’ ศูนย์กลางเศรษฐกิจเวียดนาม

28 มีนาคม 2561

หลังจากที่เวียดนามเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดเชิงสังคมนิยม เพื่อเข้าสู่ระบบการค้าโลก ทั้งการปฏิรูประบบบริหารการปรับภาษีและนโยบายภาษีในประเทศ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

หลังจากที่เวียดนามเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดเชิงสังคมนิยม เพื่อเข้าสู่ระบบการค้าโลก ทั้งการปฏิรูประบบบริหารการปรับภาษีและนโยบายภาษีในประเทศ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการลงทุนดีขึ้น ประกอบกับเสถียรภาพทางการเมืองที่สร้างความมั่นใจในการลงทุนและ “โฮจิมินห์” ก็เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ธารธีรา ไตรนรพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (รักษาการ) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (สคต.) ประจำนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ขยายความว่า แรงจูงใจที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้าไปในเวียดนามส่วนหนึ่งมาจากสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลเวียดนามให้กับนักลงทุนทั้งการผ่อนผันการเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 3-15 ปี การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยกเว้นอากรขาเข้า

เหตุนี้จึงทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศเนื้อหอมสำหรับนักลงทุน รวมทั้งนักลงทุนจากไทย โดยในปี 2560 มีโครงการลงทุนทั้งสิ้น 486 โครงการ ที่มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 8,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับที่ 10 จาก 116 ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม

สำหรับโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยยังเปิดกว้างในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ขนมเบเกอรี่ อาหารเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถยนต์

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมด้านเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ก็ยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (แสงอาทิตย์และลม) ธุรกิจขายปลีก อุตสาหกรรมสนับสนุนอย่างบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และส่วนประกอบ และโลจิสติกส์ที่ล้วนเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากเป็นสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ

“สภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดีขึ้นของเวียดนามจากการปฏิรูปการบริหารและการปรับระบบภาษีในประเทศ รวมถึงแนวทางการเข้าสู่ตลาดใหญ่ที่เวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ ทำให้เพิ่มความน่าสนใจแก่นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพื่อใช้เป็นทั้งตลาดและฐานส่งออก”ธารธีรา กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนในเวียดนามก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะระบบกฎหมายที่ไม่น่าเชื่อถือ โครงสร้างพื้นฐานที่ล้าสมัย อุปสรรคด้านภาษาในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของเวียดนาม และการขาดเครดิตบูโรเอกชน ทำให้การติดต่อค้าขายกับคนเวียดนาม จึงควรใช้วิธีจ่ายเป็นเงินสด ลดการให้สินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

ขณะที่อัตราเงินเดือนในนครโฮจิมินห์ก็มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเว็บไซต์หางานVietnamWorks ระบุว่า นครโฮจิมินห์เป็นเมืองที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 38% ซึ่งรายงานระบุว่าแรงงานในนครโฮจิมินห์ได้รับเงินเดือนโดยเฉลี่ย 456 ดอลลาร์ หรือ 10.37 ล้านเวียดนามด่อง/เดือน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 6.5 ล้านเวียดนามด่อง รองลงมาคือ นครดานังได้รับเงินเดือน 452 ดอลลาร์/เดือนจังหวัดบิ่ญถ่วน เฉลี่ย 444 ดอลลาร์/เดือน จังหวัดบั๊กนิญ 421 ดอลลาร์/เดือน และกรุงฮานอย 407 ดอลลาร์/เดือน

ทั้งหมดนี้ตอกย้ำว่านครโฮจิมินห์เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การนำเข้าและการส่งออกของเวียดนาม นับเป็นเมืองที่น่าสนใจของนักลงทุนจากต่างชาติ